เกี่ยวกับกรม

ความรู้เบื้องต้น เรื่อง แบบผังภูมิของวงจรรวม

17019
16.08.59

แบบผังภูมิวงจรรวม คือ แบบแผนผัง หรือภาพที่ทำขึ้นไม่ว่าจะปรากฏในรูปแบบใดหรือวิธีใดเพื่อให้เห็นถึงการจัดวางให้เป็นวงจรรวม ที่มีลักษณะตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติคุ้มครองแบบผังภูมิของวงจรรวม พ.ศ. 2543 ซึ่งหากต้องการขอรับความคุ้มครอบแบบผังภูมิของวงจรรวม ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนแบบผังภูมิของวงจรรวม พร้อมชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนแบบผังภูมิของวงจรรวมได้ที่ ส่วนบริหารงานจดทะเบียน สำนักสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร. 0-2547-4637 หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกแห่ง

 

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแบบผังภูมิของวงจรรวม
 
1. แบบผังภูมิ คืออะไร
               แบบผังภูมิ คือ แบบ แผนผัง หรือภาพที่ทำขึ้นไม่ว่าจะปรากฏในรูปแบบใดหรือวิธีใดเพื่อให้เห็นถึงการจัดวางให้เป็นวงจรรวม จากคำนิยามดังกล่าวจะเห็นได้ว่า แบบของวงจรไฟฟ้าที่ได้ออกแบบขึ้นมาหรือที่เรียกว่า layout design และตัวชุดหน้ากากหรือแผ่นบัง (mark work) ซึ่งเป็นตัวต้นแบบที่ใช้ในการสร้างให้เกิดแบบผังภูมิก็จัดว่าอยู่ในข่ายที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้ด้วยเช่นกัน
 
2. เงื่อนไขของแบบผังภูมิที่จะนำมาขอรับความคุ้มครอง
              กฎหมายได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่าแบบผังภูมิที่จะนำมาขอรับความคุ้มครองได้ คือ
              (1) จะต้องเป็นแบบผังภูมิที่ผู้ออกแบบได้สร้างสรรค์ขึ้นเองและไม่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ในอุตสาหกรรมวงจรรวม
              (2) เป็นแบบผังภูมิที่ผู้ออกแบบได้สร้างสรรค์ขึ้นใหม่โดยนำเอาชิ้นส่วน ส่วนเชื่อมต่อแบบผังภูมิหรือวงจรรวมอันเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปมาจัดวางใหม่ ทำให้เกิดเป็นแบบผังภูมิใหม่

3. ผู้มีสิทธิขอรับความคุ้มครอง
              กฎหมายได้กำหนดในเรื่องของผู้มีสิทธิขอรับความคุ้มครองไว้ในมาตรา 7-12 ซึ่งได้แก่บุคคล ดังต่อไปนี้
              (1) ผู้ออกแบบ หรือผู้ออกแบบร่วม
              (2) พนักงานหรือลูกจ้าง ในกรณีที่เป็นการจ้างแรงงาน
              (3) ผู้ว่าจ้าง ในกรณีที่เป็นการจ้างทำของ
              (4) หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล
              (5) ผู้รับโอนหรือผู้รับมรดก
              กรณีที่สิทธิในการขอรับความคุ้มครองในแบบผังภูมิเป็นของบุคคลตาม (2) (3) และ (4) นั้น กฎหมายได้กำหนดเพิ่มเติมไว้ว่าถ้ามีหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นก็ให้เป็นไปตามนั้น เช่น ในกรณีที่เป็นการจ้างแรงงาน ถ้านายจ้างกับลูกจ้างได้ทำหนังสือตกลงกันไว้ต่างหากว่าแบบผังภูมิที่ลูกจ้างได้สร้างสรรค์ขึ้นมา ให้สิทธิในการขอรับความคุ้มครองตกเป็นของนายจ้าง ดังนี้ย่อมทำได้

4. สิทธิที่จะได้รับ
              ผู้ทรงสิทธิในแบบผังภูมิมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะ
              (1) ทำซ้ำซึ่งแบบผังภูมิที่ตนได้รับการคุ้มครอง
              (2) นำเข้า ขาย หรือจำหน่ายเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ในแบบผังภูมิที่ได้รับความคุ้มครอง หรือวงจรรวมที่มีแบบผังภูมิที่ได้รับความคุ้มครองประกอบอยู่ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีวงจรรวมประกอบอยู่

5. อายุการคุ้มครอง
              สำหรับระยะเวลาการให้ความคุ้มครองนั้น กฎหมายกำหนดให้หนังสือสำคัญแบบผังภูมิมีอายุ 10 ปี นับแต่วันยื่นขอจดทะเบียนหรือวันที่นำออกหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกแล้วแต่วันใดจะเกิดขึ้นก่อน แต่ระยะเวลาการให้ความคุ้มครองแบบผังภูมิต้องไม่เกิน 15 ปีนับแต่วันที่สร้างสรรค์แบบผังภูมิเสร็จ ดังนั้นหากล่วงพ้นระยะเวลา 15 ปีนับแต่วันสร้างสรรค์แบบผังภูมิเสร็จ ผู้สร้างสรรค์ก็ไม่สามารถนำแบบผังภูมิมาขอจดทะเบียนได้แม้ว่าจะไม่เคยนำแบบผังภูมินั้นออกหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ก็ตาม

DIP Logoกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
เลขที่ 563 ถนนนนทบุรี  ต.บางกระสอ อ.เมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000 อีเมล์ : saraban@ipthailand.go.th สายด่วน 1368 

 facebook  instagram  youtube  twitter

สถิติผู้เข้าชมวันนี้ : 2957

สถิติผู้เข้าชมรวม : 10895345

ipv6 ready W3C WIA AAA WCAG20Html5 LogoAcheckerW3c Css
 
 
 
 

กรมทรัพย์สินทางปัญญา