คำสั่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา

คำถาม-ตอบ สำหรับการรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์

55805
09.08.59

คำถาม-ตอบ สำหรับการรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์

 

1. งานลิขสิทธิ์ คืออะไร

 

งานลิขสิทธิ์มี 9 ประเภท ได้แก่ งานวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ

 

2. ลิขสิทธิ์ ต้องจดทะเบียนหรือไม่

 

ลิขสิทธิ์ เป็นสิทธิที่กฎหมายให้ความคุ้มครองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องจดทะเบียน

 

3. ลิขสิทธิ์ คุ้มครองอะไรบ้าง

 

กฎหมายคุ้มครองงานสร้างสรรค์ 9 ประเภทข้างต้น ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดโดยเจ้าของลิขสิทธิ์จะมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว เช่น ในการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ หรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิของตน เป็นต้น

 

4. ไอเดีย แนวคิด กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองหรือไม่

 

กฎหมายจะไม่คุ้มครองถึงแนวความคิด ขั้นตอน กรรมวิธี หรือระบบ วิธีการใช้งาน หลักการ ของผลงานอันมีลิขสิทธิ์ แต่กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองการแสดงออกซึ่งความคิด ไม่ว่าโดยวิธีหรือรูปแบบใด

 

5. การละเมิดลิขสิทธิ์มีโทษตามกฎหมายอย่างไร

 

การละเมิดลิขสิทธิ์มีโทษทางอาญาทั้งจำคุกและโทษปรับแล้วแต่กรณี และเจ้าของลิขสิทธิ์ยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งด้วย โทษทางอาญา เช่น การทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และหากทำเพื่อการค้าต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

 

6. ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

 

ความเป็นเจ้าของงานลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้าง/ลูกจ้างเกิดขึ้นได้ 2 กรณี

 

(1) ถ้าผู้สร้างสรรค์สร้างงานในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น กฎหมายกำหนดให้ลิขสิทธิ์เป็นของผู้สร้างสรรค์ (ลูกจ้าง) แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ได้ตามวัตถุประสงค์ของการจ้างแรงงานนั้น

(2) ถ้าผู้สร้างสรรค์สร้างสรรค์งานโดยการรับจ้างจากบุคคลอื่น กฎหมายให้ผู้ว่าจ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น

 

7. การดัดแปลงผลงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

 

การดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์จะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

 

 

8. หากได้รับอนุญาตให้ดัดแปลงผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ผู้ใดจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานที่ได้ดัดแปลง

 

กฎหมายลิขสิทธิ์กำหนดว่าหากการดัดแปลงผลงานอันมีลิขสิทธิ์โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์แล้ว ให้ผู้ได้รับอนุญาตได้ลิขสิทธิ์ในงานที่ได้ดัดแปลง แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในงานของผู้สร้างสรรค์เดิมที่ถูกดัดแปลง

 

9. งานรวบรวม และฐานข้อมูล มีลิขสิทธิ์หรือไม่

 

งานที่มีลักษณะเป็นการนำเอางานอันมีลิขสิทธิ์มารวบรวมหรือประกอบเข้าด้วยกัน โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์

ฐานข้อมูล (database) ซึ่งเป็นการนำเอาข้อมูลหรือสิ่งอื่นใดมารวบรวมหรือประกอบเข้ากัน โดยได้มีการคัดเลือกหรือจัดลำดับ ในลักษณะที่ไม่ได้ลอกเลียนงานของบุคคลอื่น เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์

ผู้รวบรวม หรือประกอบเข้ากันนั้นมีลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในงาน หรือข้อมูล หรือสิ่งอื่นใด ของผู้สร้างสรรค์เดิมที่ถูกนำมารวบรวมหรือประกอบเข้ากัน

 

10.  เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถโอนงานลิขสิทธิ์ของตนเองให้แก่บุคคลอื่นได้หรือไม่ อย่างไร

      

                        เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถโอนงานลิขสิทธิ์ของตนเองให้แก่บุคคลอื่นได้ทั้งหมดหรือบางส่วน และสามารถโอนโดยกำหนดระยะเวลาหรือตลอดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์

          หากการโอนงานลิขสิทธิ์ดังกล่าวมิใช่ทางมรดกต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชี่อผู้โอนและผู้รับโอน

ทั้งนี้ถ้าไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ในสัญญาโอน ให้ถือว่าการโอนมีกำหนดระยะเวลา 10 ปี

 

okok.pngคำถามและคำตอบเกี่ยวกับลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ 

okok.pngคำถามคำตอบที่นักแสดงควรรู้

 

DIP Logoกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
เลขที่ 563 ถนนนนทบุรี  ต.บางกระสอ อ.เมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000 อีเมล์ : saraban@ipthailand.go.th สายด่วน 1368 

 facebook  instagram  youtube  twitter

สถิติผู้เข้าชมวันนี้ : 556

สถิติผู้เข้าชมรวม : 10864345

ipv6 ready W3C WIA AAA WCAG20Html5 LogoAcheckerW3c Css
 
 
 
 

กรมทรัพย์สินทางปัญญา