ข่าวประชาสัมพันธ์

กรมทรัพย์สินทางปัญญาระดม 60 สินค้า GI ส่งตรงถึงมือผู้บริโภคในงาน GI Market 2015 26 มีนาคม – 1 เมษายน 2558 ณ เซ็นทรัลพลาซ่า แจ้งวัฒนะ

2031
09.03.58

          กรมทรัพย์สินทางปัญญาเปิดแผนงานเชิงรุก ดัน GI เข้ามาทำตลาดในโมเดิร์นเทรด ระดมสินค้า GI 60 รายการจากทั่วไทยมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรง ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม – 1 เมษายน ศกนี้ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า แจ้งวัฒนะ เดินหน้าผลักดันโครงการ 1 จังหวัด 1 GI อย่างต่อเนื่องแย้มข่าวดี เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสานได้รับขึ้นทะเบียนที่เวียดนาม ส่วนกาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง ที่ยื่นจดทะเบียนยังสหภาพยุโรปนั้นประกาศโฆษณาได้ครบกำหนดแล้ว และไม่มีผู้คัดค้านคาดว่าน่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนภายในปีนี้
 
          นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาเตรียมจัดงาน GI Market 2015 อย่างยิ่งใหญ่ระดมสินค้า GI ถึง 60 รายการตรงจากผู้ผลิตมาถึงมือผู้บริโภคระหว่าง  วันที่ 26 มีนาคม – 1 เมษายน 2558 ณ ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า แจ้งวัฒนะ ซึ่งงาน GI Market 2015 ถือเป็นกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างโอกาส และจัดพื้นที่เป็นช่องทางการจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการสินค้า GI เพื่อได้มีโอกาสเข้ามาทำตลาดในโมเดิร์นเทรด
 
          “ภายในงาน GI Market 2015 นอกจากจะมีการจำหน่ายสินค้า GI จากผู้ประกอบการโดยตรงแล้วยังมีการสาธิตวิธีการผลิตสินค้า GI ได้แก่ การทอผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ การปั้นและแกะสลักเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด การชงชาเชียงราย การวาดลวดลายร่มบ่อสร้าง การจัดนิทรรศการแสดงสินค้า GI ที่โดดเด่น และการแสดงมินิคอนเสิร์ตตลอด 7 วัน โดยศิลปินชั้นนำ ได้แก่ นิว – จิ๋ว, แจ็ค ธนพล, บิว กัลยาณี, เอ๊ะ จิรากร, เบล สุพล และทาทา ยัง จะมารังสรรค์เมนูจากสินค้า GI เป็นเมนูพิเศษที่ไม่เคยทำที่ไหนมาก่อนอีกด้วย” นางมาลีกล่าว
 
          กรมทรัพย์สินทางปัญญาตระหนักดีถึงความสำคัญของ GI หรือสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในฐานะทรัพย์สินทางปัญญาอันเกิดจากภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นซึ่งได้สะสมบ่มเพาะ ผสมผสานกับลักษณะเฉพาะทางภูมิศาสตร์ทำให้เกิดผลผลิตที่มีคุณลักษณะต่างจากสินค้าชนิดเดียวกันของแหล่งอื่นๆ เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยตุง มะขามหวานเพชรบูรณ์ ไข่เค็มไชยา เป็นต้น จึงอาจกล่าวได้ว่า GI เปรียบเสมือนแบรนด์ชุมชน  ซึ่งการได้รับความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นอกจากจะแสดงถึงความพิเศษของสินค้าแล้ว ยังหมายถึงสินค้านั้นเป็นสินค้าที่มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในคุณภาพอันจะเป็นผลส่งเสริมถึงภาพลักษณ์ของสินค้าที่มีผลต่อผู้บริโภคให้ยอมจ่ายเงินสูงขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า GI ด้วยความสำคัญเช่นนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงได้วางนโยบายในการผลักดันโครงการ 1 จังหวัด 1 GI คือส่งเสริมให้มีการขึ้นทะเบียนสินค้า GI อย่างน้อย 1 จังหวัดต่อ 1 สินค้า GI เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพของสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นให้ดีขึ้น 
 
          “ปัจจุบันมีสินค้า GI ยื่นคำขอ 115 คำขอ เป็นสินค้า GI ไทย 101 คำขอ และ GI ต่างประเทศ 14 คำขอ และกรม ฯ ได้รับขึ้นทะเบียนแล้ว 67 คำขอ โดยเป็นสินค้า GI ไทย 56 คำขอ และ GI ต่างประเทศ 11  คำขอ ขณะที่สินค้า GI ไทยยื่นจดทะเบียนในต่างประเทศไปแล้ว 5 สินค้า โดยยื่นจดที่สหภาพยุโรป 4 สินค้า ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง และอีก 1 สินค้าคือ เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน ยื่นจดที่ประเทศเวียดนาม” นางมาลีกล่าว
 
          นางมาลีกล่าวเพิ่มเติมว่า “ในส่วนของ GI ไทยที่ยื่นจดทะเบียนในต่างประเทศนั้น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ได้รับจดทะเบียนแล้ว กาแฟดอยช้าง และกาแฟดอยตุงอยู่ระหว่างประกาศโฆษณาเพื่อรอจดทะเบียนอย่างเป็นทางการคาดว่าน่าจะมีข่าวดีภายในปีนี้ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงอยู่ระหว่างการตรวจสอบคำขอ ส่วนเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสานที่ยื่นจดที่ประเทศเวียดนามนั้นได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้การที่สินค้า GI ของไทยได้รับการขึ้นทะเบียนในสหภาพยุโรปนั้นถือว่าสินค้าได้รับการยอมรับว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะ โดดเด่น แตกต่างจากสินค้าประเภทเดียวกันจากแหล่งผลิตอื่นๆในโลกตามมาตรฐานที่สหภาพยุโรปตั้งเอาไว้ และยิ่งไปกว่านั้น “ชื่อของสินค้า” ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจะได้รับการปกป้องคุ้มครองทั้งสหภาพยุโรปตามกฎหมาย อันจะทำให้สินค้าจากนอกพื้นที่การขึ้นทะเบียนจะไม่สามารถใช้ชื่อเดียวกันได้”
 

DIP Logoกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
เลขที่ 563 ถนนนนทบุรี  ต.บางกระสอ อ.เมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000 อีเมล์ : saraban@ipthailand.go.th สายด่วน 1368 

 facebook  instagram  youtube  twitter

สถิติผู้เข้าชมวันนี้ : 150

สถิติผู้เข้าชมรวม : 11015247

ipv6 ready W3C WIA AAA WCAG20Html5 LogoAcheckerW3c Css
 
 
 
 

กรมทรัพย์สินทางปัญญา