กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พบนักออกแบบไทยมีผลงานสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น เผยยอดรับคำขอยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ไตรมาสแรกปี ๕๘ สูงขึ้นกว่า ๓๐ %
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้รับคำขอยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ในช่วงไตรมาสแรกของปี ๒๕๕๘ (มกราคม – มีนาคม ๒๕๕๘) รวม ๑,๐๑๑ คำขอ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี ๒๕๕๗ ร้อยละ ๓๑.๙๘ โดยในช่วงเวลาเดียวกันของปี ๒๕๕๗ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รับคำขอยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตร การออกแบบผลิตภัณฑ์ ๗๖๖ คำขอ ซึ่งร้อยละ ๖๕ ของคำขอยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นการออกแบบของคนไทย โดยประเภทของการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีผู้นำมายื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ในช่วงไตรมาสแรกของปี ๒๕๕๘ ผลิตภัณฑ์ อันดับ ๑ คือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ประเภทยานพาหนะ อันดับ ๒ การออกแบบผลิตภัณฑ์ประเภทเฟอร์นิเจอร์ อันดับ ๓ การออกแบบผลิตภัณฑ์ประเภทอุปกรณ์ชิ้นส่วนสิ่งก่อสร้าง อันดับ ๔ การออกแบบผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องมือและเครื่องโลหะ และอันดับ ๕ การออกแบบผลิตภัณฑ์ประเภทวัสดุสิ่งทอ ซึ่งจากสถิติการรับคำขอยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตร การออกแบบผลิตภัณฑ์แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันนักออกแบบไทยมีผลงานสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น และเล็งเห็นความสำคัญของการคุ้มครองการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ในการยกระดับประเทศไทยด้วยการใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และกรมยังส่งเสริมให้นักออกแบบนำผลงานเข้าสู่ระบบการคุ้มครองและปกป้องสิทธิ ในทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนานักออกแบบให้สามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้สามารถ แข่งขันทางการค้ากับนานาประเทศ
อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังเล็งเห็นความสำคัญของการปรับปรุงการให้บริการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องดำเนินการให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ นักออกแบบผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการ และ SME ของไทย เพื่อให้สามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและทำธุรกิจ รวมทั้งรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงการจดทะเบียนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการคุ้มครองการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ ระยะเวลาคุ้มครอง ไม่เกิน ๑๐ ปี โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาตั้งเป้าที่จะใช้เวลาในการตรวจสอบและรับจดทะเบียนสิทธิบัตร การออกแบบผลิตภัณฑ์ ในกรณีคำขอที่ถูกต้อง ชัดเจนภายใน ๑๒ เดือน จากเดิมที่ใช้เวลาในการรับจดทะเบียน ๒๔ เดือน เพื่อส่งเสริมผลงานสร้างสรรค์การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของคนไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดในประเทศและต่างประเทศ