รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางอภิรดี ตันตราภรณ์) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7สิงหาคม 2560กระทรวงพาณิชย์ นำโดยปลัดกระทรวงพาณิชย์ (นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์) พร้อมด้วยอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา (นายทศพล ทังสุบุตร) และเอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ) ได้ยื่นภาคยานุวัติสารพิธีสารมาดริดต่อ นายฟรานซิส เกอร์รี่ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization : WIPO) ซึ่งทำให้ประเทศไทยเป็นสมาชิกพิธีสารมาดริดในลำดับที่ 99 และจะมีผลในวันที่ 7พฤศจิกายน 2560
การเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริดของไทยจะช่วยอำนวยความสะดวกในการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ ผู้ประกอบการไทยจะได้รับประโยชน์โดยสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา และขอรับการคุ้มครองในประเทศสมาชิกอื่นๆ 98ประเทศ ครอบคลุม 114ดินแดน ได้หลายประเทศในคราวเดียวกัน และสามารถเลือกยื่นคำขอเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส หรือภาษาสเปน และชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ ในคราวเดียว ซึ่งจะทำให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ขณะเดียวกันระบบมาดริดจะช่วยให้มีการขอรับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้า การลงทุน และขยายตลาดสินค้าและบริการของไทยให้เติบโตขึ้น
ในวันเดียวกันนี้ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาข้อมูลรายการสินค้าและบริการของระบบมาดริด (Memorandum of Understanding on the Development of the Thai Version of the Madrid System Goods and Services Database (MGS) ร่วมกับผู้อำนวยการใหญ่ WIPO โดย WIPO จะให้ความช่วยเหลือในการจัดทำรายการสินค้าและบริการของระบบ MGS เป็นภาษาไทย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ยื่นคำขอเครื่องหมายการค้าผ่านระบบมาดริด
กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ใช้โอกาสนี้ ขอบคุณองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกที่ให้ความช่วยเหลือกรมทรัพย์สินทางปัญญาในการเตรียมการเพื่อเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริดมาโดยตลอด และจะสานต่อความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญากับ WIPO ในการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
1368สายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา
รองรับการทำงานบน Microsoft Edge , Firefox , Safari , Chrome , Opera และรองรับการแสดงผลบน Mobile Devices
สงวนลิขสิทธิ์ © 2564 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์