อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเข้าร่วมประชุมหัวหน้าสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียนและสำนักงานสิทธิบัตรญี่ปุ่น ครั้งที่ 5
อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเข้าร่วมประชุมหัวหน้าสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียนและสำนักงานสิทธิบัตรญี่ปุ่น ครั้งที่ 5และร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือด้านทรัพย์สินอุตสาหกรรมระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญาไทยและสำนักงานสิทธิบัตรญี่ปุ่น
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้เข้าร่วมการประชุมหัวหน้าสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียนและสำนักงานสิทธิบัตรญี่ปุ่น (Japan Patent Office: JPO) ครั้งที่ 5 ณ เมืองนารา ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 24 - 27 พฤษภาคม 2558 โดยมีนายฮิโตชิ อิโตะ เลขาธิการสำนักงานสิทธิบัตรญี่ปุ่น และนายตัน ยี่ ซาน ผู้บริหารสูงสุดสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาสิงคโปร์ ประธานคณะทำงานความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียน (ASEAN Working Group on Intellectual Property Cooperation: AWGIPC) เป็นประธานร่วม
การประชุมครั้งนี้ อาเซียนและญี่ปุ่นได้ร่วมพิจารณาผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ ด้านทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียน-ญี่ปุ่น ประจำปี 2557 – 2558 ภายใต้กรอบบันทึกความร่วมมือว่าด้วยทรัพย์สินอุตสาหกรรมระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น รวมทั้งได้รับรองแผนปฏิบัติการด้านทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียน-JPO สำหรับปี 2558 – 2559 ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การให้ทุนสนับสนุน ผู้ตรวจสอบจากสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาในอาเซียนเข้าอบรมสัมมนาต่างๆ เพื่อพัฒนาทักษะความรู้ด้านการตรวจสอบและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร และสิทธิบัตรการออกแบบ การแลกเปลี่ยนข้อมูลการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างกัน และการพัฒนาระบบฐานข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
ในโอกาสเดียวกัน อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายังได้เข้าร่วมการประชุมระดับสูงร่วมกับผู้แทนภาคเอกชนจากบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น ได้แก่ 1) Ajinomoto Co., Inc. (2) Sysmex Corporation (3) Takatori Corporation (4) Toyota Motor Corporation (5) NABEL Co., Ltd. (6) Panasonic Corporation และ (7) Unicharm Corporation บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ บริษัท ฮอนดา และบริษัทพานาโซนิค เป็นต้น โดยทั้ง 7 บริษัทต่างให้ความสำคัญกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยมีจำนวนทรัพย์สินทางปัญญาที่จดทะเบียนไว้ในประเทศไทยมากเป็นอันดับต้นๆ ในอาเซียน และต่างมีความร่วมมือในด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญากับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไทยเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายังได้ร่วมเป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมบรรยายในงานการสัมมนา ASEAN IPOs Symposium 2015 ซึ่งมีผู้ประกอบการภาคเอกชนและผู้สนใจในเมืองนาราและ เมืองใกล้เคียงเข้าร่วมการสัมมนาประมาณ 300 ราย โดยอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้บรรยายในหัวข้อ “Presentations Placing Emphasis on Initiatives on Trademark Examination and Industrial Design Examination” ครอบคลุมแนวทางที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินการเพื่อยกระดับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตรการออกแบบในไทย ซึ่งประกอบด้วย (1) การลดภาระงานคั่งค้าง หรือ Backlog (2) การให้บริการคำขออิเล็กทรอนิกส์ (3) การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลและการฝึกอบรม และ (4) การเข้าเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศด้านทรัพย์สินทางปัญญา การเดินทางในครั้งนี้ ยังถือเป็นโอกาสอันดีที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านทรัพย์สินอุตสาหกรรมระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญาไทยและสำนักงานสิทธิบัตรญี่ปุ่น ร่วมกับเลขาธิการสำนักงานสิทธิบัตรญี่ปุ่นตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างสำนักงานทั้งสองในด้านทรัพย์สินอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต โดยบันทึกความร่วมมือนี้จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านทรัพย์สินอุตสาหกรรมระหว่างทั้งสองประเทศ ครอบคลุมเรื่องเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร การออกแบบอุตสาหกรรม และ อนุสิทธิบัตร โดยจะมีกิจกรรมความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินอุตสาหกรรม การเยือนศึกษาของเจ้าหน้าที่ระหว่างสองสำนักงาน การแลกเปลี่ยนข้อมูลและการเข้าถึงฐานข้อมูลทรัพย์สินอุตสาหกรรมระหว่างทั้งสองสำนักงาน การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศพื้นฐาน และการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการตรวจสอบและรับจดทะเบียนทรัพย์สินอุตสาหกรรม เป็นต้น