ข่าวประชาสัมพันธ์

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ชี้แจงประเด็นการใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาจดทะเบียนสิทธิบัตรล่าช้า

5071
11.04.60

 

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ชี้แจงประเด็นการใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาจดทะเบียนสิทธิบัตรล่าช้า

         

จากประเด็นข่าวที่กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวหาว่า รัฐบาลออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อเร่งออกสิทธิบัตรยา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการผูกขาดตลาดยาและทำให้ยามีราคาแพงมาก และจะกระทบต่องบประมาณด้านสาธารณสุข

กรมทรัพย์สินทางปัญญาขอเรียนชี้แจง ดังนี้

     •    เนื่องจากประเทศไทยมีปริมาณการยื่นคำขอจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ส่งผลให้มีปริมาณงานค้างสะสมเป็นจำนวนมาก ทำให้การดำเนินการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเกิดความล่าช้า รัฐบาลเห็นความสำคัญ จึงสนับสนุนทั้งการเพิ่มบุคลากรผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรอีก 72 คน และงบประมาณพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ยื่นขอจดทะเบียน

     •    เหตุที่ทำให้การจดทะเบียนสิทธิบัตรล่าช้า เกิดจากปัญหาด้านอัตรากำลังของผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่มีจำกัด ทำให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการที่มายื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรได้อย่างรวดเร็ว โดยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา กรมทรัพย์สินทางปัญญามีอัตรากำลังผู้ตรวจสอบเพียง 24 คน ในขณะที่มีปริมาณคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรมากถึงปีละ 9,000 คำขอ ส่งผลให้เกิดภาระงานค้างสะสมสูงถึง 36,000 คำขอ และในจำนวนนี้เป็นคำขอที่ยื่นมาเกินกว่า 5 ปีมากถึง 12,000 คำขอ

     •    เพื่อแก้ไขปัญหาการตรวจสอบสิทธิบัตรการประดิษฐ์ล่าช้า มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจดทะเบียนสิทธิบัตรโดยอาศัยอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฯ ที่จะนำมาใช้นี้ เป็นมาตรการที่เรียกว่า “การตรวจสอบการประดิษฐ์แบบทางเลือก” ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการแลกเปลี่ยนผลการตรวจสอบระหว่างสำนักงานที่ใช้อยู่ในหลายประเทศ หรือ “Work Sharing” เพื่อสะสางงานค้างสะสมที่ยื่นมาแล้วเกินกว่า 5 ปี โดยเป็นมาตรการทางเลือกชั่วคราว ลดขั้นตอนการตรวจสอบที่ซ้ำซ้อนกับสำนักงานสิทธิบัตรต่างประเทศ ส่งผลให้ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรของกรมฯ สามารถตรวจสอบสิทธิบัตรได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

     •    อย่างไรก็ดี การใช้มาตรการนี้ ยังคงต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบอื่นๆ ตามกฎหมายไทย และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการออกสิทธิบัตรตามมาตรการดังกล่าว กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เพิ่มช่องทางสำหรับการร้องขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ใหม่ ที่เปิดโอกาสให้สาธารณชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการออกสิทธิบัตร โดยเชิญคณะผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นผู้พิจารณา เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นกลาง

     •    สำหรับในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับราคายา นั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาขอเรียนว่า กลไกการสร้างความสมดุลระหว่างระบบสิทธิบัตรกับระบบสุขภาพของประเทศต้องอาศัยการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้ง การที่ยามีราคาสูงขึ้นนั้นเกิดจากปัจจัยแวดล้อมหลายประการ เช่น ต้นทุนทางการตลาด และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น ทั้งนี้ การใช้สิทธิในสิทธิบัตรนั้นจะต้องไม่นำไปสู่ความไม่เป็นธรรมทางการค้าหรือเอาเปรียบผู้บริโภค นอกจากนั้นแล้วกลไกการกำกับดูแลราคายาในปัจจุบันมีอยู่หลายมาตรการ เช่น กลไกการต่อรองราคายาและการกำหนดราคากลางของยาของกระทรวงสาธารณสุข หรือกลไกการควบคุมราคาสินค้าและบริการโดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการของกรมการค้าภายใน เป็นต้น

     • มาตรการดังกล่าวเป็นการใช้บังคับเพียงชั่วคราวเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และไม่มีเจตนาออกมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ชาติใด หรือเลือกปฏิบัติกับฝ่ายใดเป็นพิเศษ เนื่องจากการพิจารณารับจดทะเบียนสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญายึดมั่นพิจารณาตามหลักกฎหมายและหลักวิชาการตามมาตรฐานสากล ด้วยความเป็นธรรม เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอันสอดรับกับนโยบายการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า และการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและปัญญา

 

---------------------------------------------------

DIP Logoกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
เลขที่ 563 ถนนนนทบุรี  ต.บางกระสอ อ.เมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000 อีเมล์ : saraban@ipthailand.go.th สายด่วน 1368 

 facebook  instagram  youtube  twitter

สถิติผู้เข้าชมวันนี้ : 777

สถิติผู้เข้าชมรวม : 10836824

ipv6 ready W3C WIA AAA WCAG20Html5 LogoAcheckerW3c Css
 
 
 
 

กรมทรัพย์สินทางปัญญา