ข่าวประชาสัมพันธ์

กรมทรัพย์สินทางปัญญาไขข้อข้องใจกรณีสิทธิบัตรยารักษาไวรัสตับอักเสบซี

3826
30.11.58

          นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้เปิดเผยว่า กรณีที่เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทยตั้งข้อสังเกตการดำเนินงานของกรมฯในการพิจารณาการยื่นขอสิทธิบัตรยาโซฟอสบูเวียร์ซึ่งเป็นยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี โดยระบุว่าระบบฐานข้อมูลสิทธิบัตรของกรมฯมีความคลาดเคลื่อน ก่อให้เกิดความลำบากในการยื่นคัดค้านคำขอของสิทธิบัตรยาดังกล่าวนั้น อาจเป็นเพราะความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับข้อมูล ในขณะที่ต้องยอมรับว่าระบบฐานข้อมูลและการให้บริการข้อมูลทางเวปไซต์ของกรมฯยังคงต้องได้รับการปรับปรุงพัฒนาต่อไปให้เป็นระบบที่สมบูรณ์เต็มรูปแบบยิ่งขึ้น
 
          กรมฯ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าอาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับข้อมูลที่กรมฯได้จัดส่งให้ฝ่ายเครือข่ายฯ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2558 โดยระบุว่าข้อมูลคำขอฯที่กรมฯส่งแจ้งให้นั้นไม่ใช่ของยาโซฟอสบูเวียร์ 2 คำขอ ซึ่งข้อเท็จจริงคำขอทั้ง 2 ดังกล่าว ถึงแม้ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับยาโซฟอสบูเวียร์แต่ก็เป็นยาสำหรับรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี เจ้าหน้าที่จึงเห็นว่าอาจจะเป็นประโยชน์ต่อมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ที่ทำหนังสือสอบถามมาจึงได้ให้เพิ่มเติมจากที่ฝ่ายเครือข่ายฯ สอบถามไป นอกจากนั้นประเด็นที่ระบุว่าสถานะคำขอที่แจ้งไปคลาดเคลื่อนจากระบบที่สืบค้นได้บนเว็บไซต์เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 นั้น เนื่องจากคำขอเหล่านั้นผู้ยื่นขอฯ มิได้มีการยื่นขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ภายในเวลาที่กำหนดซึ่งตามกฏหมายถือว่าละทิ้งคำขอและอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดการให้เป็นคำขอที่ถูกละทิ้ง จากนั้นจึงจะต้องบันทึกสถานะเข้าในระบบของกรมฯ ดังนั้นกรมฯจึงได้แจ้งสถานะล่าสุดที่เป็นอยู่จริงให้ฝ่ายเครือข่ายฯทราบแม้จะยังไม่ปรากฏในระบบฯเพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ทันสมัยที่สุด อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าระบบฐานข้อมูลสิทธิบัตรของกรมฯ แม้ว่าจะได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงมีส่วนที่ต้องปรับปรุงอยู่ต่อไป อาทิ เช่น การอัปเดทสถานะของคำขอฯ ยังมิได้เป็นระบบอัตโนมัติแต่ยังต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ในการเข้าไประบุสถานะ ในขณะนี้กรมฯอยู่ระหว่างการขอจัดสรรเงินงบประมาณปี 2560 เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นระบบสมบูรณ์เต็มรูปแบบทั้งระบบ ตั้งแต่การยื่นขอทางอิเลคทรอนิกส์ (e-filing) ไปจนถึงระบบที่เป็นอัตโนมัติสำหรับการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน
 
          สำหรับการแสดงความห่วงใยในกรณีคำขอรับสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับยาโซฟอสบูเวียร์ ซึ่งฝ่ายเครือข่ายฯได้ให้ความเห็นว่าระยะเวลาในการยื่นคัดค้านภายใน 90 วันนับจากวันที่ประกาศโฆษณาตามที่กำหนดในกฎหมายเป็นระยะเวลาที่สั้นเกินไปนั้น กรณีที่ไม่สามารถยื่นคัดค้านได้ทันกรมฯเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียส่งเอกสารหลักฐานให้กรมฯ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณา ตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรได้ ทั้งนี้สามารถส่งเอกสารหลักฐานได้ก่อนมีการรับจดทะเบียนหรือปฏิเสธการรับจดทะเบียน ซึ่งเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทยก็เคยใช้ช่องทางดังกล่าวแล้ว
 
          สำหรับประเด็นประกาศขยายระยะเวลาและการดำเนินการตามกฎหมายซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมืองนั้น ประกาศดังกล่าวได้ออกภายใต้พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองพ.ศ. 2539 ซึ่งมีเจตนาให้ประโยชน์แก่บุคคลทั่วไปไม่เฉพาะรายใดรายหนึ่ง ในช่วงที่เป็นเหตุสุดวิสัยทำให้ประชาชนไม่สามารถยื่นเอกสารราชการได้ในกรณีซึ่งต้องทำตามเงื่อนไขเวลาที่กำหนดตามปกติ
 
          โดยหลักการแล้ว ระบบสิทธิบัตรมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภคเนื่องจากจะทำให้เกิดการผลิตจำหน่ายสินค้าที่อำนวยความสะดวกหรือให้ความปลอดภัย รวมไปถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัยของประชาชนเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยในการตรวจสอบเพื่อการพิจารณารับจดสิทธิบัตรนั้นกรมฯยังคงให้ความสำคัญกับการตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรอย่างโปร่งใส โดยใช้แนวทางการดำเนินการตามคู่มือการตรวจสอบสิทธิบัตรยา ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนรวมทั้งผู้แทนจากเครือข่ายฯเองก็ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำคู่มือดังกล่าว

DIP Logoกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
เลขที่ 563 ถนนนนทบุรี  ต.บางกระสอ อ.เมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000 อีเมล์ : saraban@ipthailand.go.th สายด่วน 1368 

 facebook  instagram  youtube  twitter

สถิติผู้เข้าชมวันนี้ : 1604

สถิติผู้เข้าชมรวม : 10995112

ipv6 ready W3C WIA AAA WCAG20Html5 LogoAcheckerW3c Css
 
 
 
 

กรมทรัพย์สินทางปัญญา