ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย
กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้มาตรการและ การปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในการจัดอันดับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทย
ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ สหรัฐฯ ได้จัดไทยเป็นประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้จัดรายงานความคืบหน้าสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย และส่งให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) แล้ว เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาจัดอันดับประเทศคู่ค้าตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2558 ซึ่ง USTR จะประกาศผลการจัดอันดับดังกล่าวในวันที่ 30 เมษายน 2558 สรุปสาระสำคัญของรายงานฯ ได้ ดังนี้
(1) การพัฒนาระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยในปี 2557 ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ (ปี 2556-2559) และแผนเร่งรัดการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (ปี 2555-2558) เช่น มีการระดมกำลังปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในพื้นที่ สีแดง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาวางจำหน่ายเป็นจำนวนมาก อย่างเคร่งครัด เป็นต้น
(2) ความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ในส่วนของข้อมูลการบริหารสิทธิ มาตรการทางเทคโนโลยี และข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ต และ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ ในส่วนของข้อยกเว้นการละเมิดสิทธิ์เพื่อประโยชน์ของคนพิการ และการกระทำความผิดเกี่ยวกับการบันทึกภาพและเสียงในโรงภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 และจะมีผลบังคับใช้ภายใน 180 วัน และ 60 วันตามลำดับ
(3) การพัฒนาระบบการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา โดยจัดสรรงบประมาณ และบุคลากรเพิ่ม และส่งเสริมความร่วมมือกับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้การรับจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญามีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น
(4) การรณรงค์สร้างความตระหนักให้กับประชาชนเรื่อง คุณค่าของทรัพย์สินทางปัญญา และปลูกฝังค่านิยมให้กับคนรุ่นใหม่เรื่องการเคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งรวมถึงโครงการรณรงค์ต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเตอร์เน็ตภายใต้กรอบหุ้นส่วนเชิงสร้างสรรค์ไทย-สหรัฐฯ (Thai-U.S. Creative Partnership)
(5) รายงานสถิติผลการจับกุม จำนวน และมูลค่าของของกลางระหว่างปี 2552-2557 โดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมศุลกากร ตลอดจนผลการดำเนินงานร่วมกันระหว่างศูนย์ปฏิบัติการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติของไทยกับ เจ้าหน้าที่จาก U.S. Immigration and Customs Enforcement (ICE) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ Department of Homeland Security ของสหรัฐฯ ซึ่งประสบความสำเร็จและได้รับคำชื่นชมจาก ICE เป็นอย่างดียิ่ง
(6) รายงานสถิติการออกหมายค้น/หมายจับ และคดีทรัพย์สินทางปัญญาที่มาสู่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ประจำปี 2557 ซึ่งมีจำนวนคดีทั้งทางแพ่งและอาญา รวมกว่า 4,000 คดี
ในการนี้ จะเห็นได้ว่า ไทยมีความคืบหน้าในการพัฒนาด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ จะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับไทยได้โดยลำดับ