มุกภูเก็ต และ ชาเชียงราย ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มุกภูเก็ต และชาเชียงราย เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 หลังจากที่ได้ประกาศโฆษณา 90 วันแล้วไม่มีผู้ใดยื่นคำขอคัดค้านการขึ้นทะเบียนสินค้าดังกล่าว
สำหรับมุกภูเก็ตและชาเชียงราย มีลักษณะสำคัญ คือ “มุกภูเก็ต” หมายถึง มุกกลมและมุมซีก ที่มีสีโทนขาว ครีม ชมพู ถึงเหลืองทอง ด้วยกระบวนการผลิตตามวิธีการที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาในบริเวณทะเลรอบเกาะภูเก็ตและเกาะบริวารภายในเขตจังหวัดภูเก็ต โดยจากลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ในทะเลฝั่งอันดามัน การขึ้นลงของน้ำวันละสองครั้ง (เช้า-เย็น) ทำให้น้ำแถบอันดามันสะอาดและมีการพัดพาของตะกอนสารอินทรีย์มากกว่าพื้นที่อื่น ทำให้มีความสมบูรณ์ของแพลงตอน อาหารธรรมชาติสำหรับหอยมุกและ มีอุณหภูมิเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของหอย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการเจริญเติบโตของหอยมุก ทำให้ หอยมุกโตเร็ว ส่งผลให้สร้างมุกได้เร็วขึ้น
ชาเชียงราย” หมายถึง ผลิตภัณฑ์ชาเขียว (ชาที่ไม่ผ่านกระบวนการหมัก) และชาอู่หลง (ชาที่หมักเพียงบางส่วน) ที่ได้จากพันธุ์ชาอัสสัม และพันธุ์ชาจีน โดยปลูกและผลิตตามกรรมวิธีเฉพาะตามหลักการผลิตชา ในพื้นที่ อ.เมือง อ.แม่สรวย อ.เวียงป่าเป้า อ.แม่ลาว อ.แม่จัน อ.แม่ฟ้าหลวง อ.เชียงของ อ.เวียงเชียงรุ้ง และ อ.เชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ชาเชียงราย” จะต้องได้รับการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์มาตรฐานของชาเชียงรายซึ่งเป็นมาตรฐานกลางของจังหวัดที่จัดทำขึ้นโดยสถาบันชา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สมาคมชา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงราย
อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินงานส่งเสริมสินค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายปีงบประมาณ 2560 จะส่งเสริมให้สินค้า GI เป็นที่รู้จักยอมรับ และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค เพราะสินค้า GI เป็นการรับรองแหล่งผลิตสินค้า คุณภาพที่ผูกผันกับวัตถุดิบ หรือภูมิปัญญาในท้องถิ่น การมีเครื่องหมายรับรองจะยืนยันว่าท่านได้ของแท้
นอกจากนี้การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนท้องถิ่นที่ผลิตสินค้าและใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและมาตรฐานการผลิต รวมถึงเป็นเครื่องมือทางการตลาดเพื่อยกระดับสินค้าและเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าชุมชนอีกด้วย
ปัจจุบันมีสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 74 คำขอ เป็นสินค้าไทยที่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จำนวน 63 สินค้า เช่น ไข่เค็มไชยา ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ข้าวไร่ลืมผัวเพชรบูรณ์ ผ้าครามธรรมชาติสกลนคร เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง กล้วยเล็บมือนางชุมพร ผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์ เป็นต้น และสินค้าต่างประเทศ 11 สินค้า เช่น ฟิสโก (สุรา) ประเทศเปรู คอนยัค ประเทศฝรั่งเศส สก็อตว์ วิสกี้ ประเทศสก๊อตแลนด์ เป็นต้น