กรณีถูกกล่าวหาว่าละเมิดเครื่องหมายการค้า
1) ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าผู้กล่าวหาได้ใช้เครื่องหมายการค้ามาก่อนหรือไม่ หรือจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ในประเทศไทยหรือต่างประเทศมาก่อนหรือไม่ เพื่อทราบข้อเท็จจริงว่าผู้กล่าวหาเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริง
2) ตรวจสอบว่าผู้กล่าวหามีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาด้วยหรือไม่และเป็นผู้ทำการจับกุม เนื่องจากการจับกุมเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น โดยอาจขอดูบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ
3) การตรวจค้นในที่รโหฐานเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีหมายค้นของศาลมาแสดงก่อนจึงจะทำการค้นได้
4) คดีละเมิดเครื่องหมายการค้าไม่สามารถยอมความกันได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะตกลงระงับคดีโดยจ่ายเงินเป็นค่าชดเชยความเสียหายเพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดีต่อได้
5) ควรติดต่อหรือประสานทนายความเพื่อมาอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับคดี (ถ้ามี)
6) ของกลางในคดี ได้แก่ ทรัพย์สินที่ได้ทำหรือมีไว้เป็นความผิด หรือทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เป็นความผิด
7) ผู้ถูกจับย่อมมีสิทธิดังต่อไปนี้
(1) มีสิทธิแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติ หรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับไว้วางใจทราบถึงการถูกจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมในโอกาสแรก (ป.วิอาญา ม.7/1)
(2) มีสิทธิรับทราบข้อกล่าวหาในการกระทำความผิด (ป.วิอาญา ม.83 ว.2)
(3) มีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ เนื่องจากถ้อยคำของผู้ถูกจับอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดี (ป.วิอาญา ม.83 ว.2)
(4) มีสิทธิในการพบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว (ป.วิอาญา ม.7/1 และม.83 ว.2)
1368สายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา
รองรับการทำงานบน Microsoft Edge , Firefox , Safari , Chrome , Opera และรองรับการแสดงผลบน Mobile Devices
สงวนลิขสิทธิ์ © 2564 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์