สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ คือความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับรูปร่างลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างไปจากเดิมและต้องเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมหรือหัตถกรรม คือเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่มีใช้แพร่หลายในประเทศหรือยังไม่ได้เปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ก่อนวันขอรับสิทธิบัตรหรือไม่คล้ายกับแบบผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้ว
การยื่นคำขอใหม่
ให้ผู้ยื่นคำขอยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบพร้อมชำระค่าธรรมเนียมคำขอใหม่ ต่อเจ้าหน้าที่ ณ ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงกองสิทธิบัตรออกแบบกรมทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมเอกสารแนบต่างๆ
เงื่อนไขในการยื่นคำขอ
1. คำขอ และเอกสารต่างๆที่ยื่นพร้อมคำขอที่ถูกต้อง
1.1 มีข้อความถูกต้อง ชัดเจน และครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในแบบพิมพ์
1) พิมพ์รายละเอียดในแบบฟอร์ม ในกรณีที่ผู้ขอรับสิทธิบัตร ได้ยื่นคำขอขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไว้นอกราชอาณาจักรนั้น จะต้องยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ในราชอาณาจักรภายในหกเดือนนับตั้งแต่ที่ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์นอราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก ผู้ขอรับสิทธิบัตรจะขอให้ระบุว่าวันที่ได้ยื่นคำขอนอกราชอาณาจักรเป็นครั้งแรกเป็นวันที่ยื่นคำขอในราชอาณาจักรก็ได้
2) ลงลายมือชื่อผู้ขอ หรือลายมือชื่อตัวแทน (กรณีมอบอำนาจ) ซึ้งได้ขึ้นทะเบียนไว้กับอธิบดีให้เป็นผู้ลงลายมือชื่อแทน
1.2 พิมพ์ข้อถือสิทธิ์คำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจนสอดคล้องกับภาพแสดงแบบผลิตภัณฑ์
1.3 ภาพแสดงแบบพิมพ์ที่จะขอรับความคุ้มครอง สามารถแสดงได้ 2 แบบคือ 1.รูปเขียน หรือ 2.ภาพถ่าย โดยต้องแสดงให้เห็นรายละเอียดภายนอกของแบบผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจนทุกด้าน และถูกต้องตามหลักวิชาการเขียนแบบ
1.4 หนังสือคำรับรองสิทธิ
1.5 หนังสือโอนสิทธิ ในกรณีที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรไม่ใช่เป็นผู้ออกแบบด้วยตนเอง เพื่อเป็นหลักฐานในการแสดงถึงความเป็นเจ้าของ
1.6 บัตรประชาชนของผู้ยื่นขอ
1) กรณีเป็นบุคคลธรรมดา ให้ใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่นๆ ที่ทางราชการออกให้
2) กรณีเป็นนิติบุคคล ให้ใช้หนังสือรับรองนิติบุคคลซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน โดยมีคำรับรองของผู้มีอำนาจให้คำรับรองตามกฎหมายไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่ออกหนังสือรับรองนั้น
2. การมอบอำนาจ
การยื่นคำขอกระทำโดยตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจนั้น ตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจจะต้องขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทนไว้กับอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยให้แนบสำเนาหนังสือตั้งตัวแทนและหนังสือมอบอำนาจที่ติดอากรแสตมป์ 30 บาทต่อผู้รับมอบอำนาจหนึ่งคน และสำเนาบัตรประจำตัวของตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจ
2.1 ในกรณีผู้ที่ขอรับสิทธิบัตรไม่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ให้มอบอำนาจให้ตัวแทนซึ้งได้ขึ้นทะเบียนไว้กับอธิบดีเป็นผู้กระทำการแทนในราชอาณาจักร โดยยื่นหนังสือมอบอำนาจต่ออธิบดีตามหลังเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1) ในกรณีที่การมอบอำนาจนั้นได้กระทำในต่างประเทศ หนังสือมอบอำนาจต้องมีคำรับรอง ลายมือชื่อโดยเจ้าหน้าที่ผู้มอบอำนาจของสถานฑูตไทยหรือสถานกงสุลไทย หรือหัวหน้าสำนักงานสังกัด กระทรวงพาณิชย์ซึ่งประจำอยู่ ณ ประเทศที่ผู้มอบอำนาจมีถิ่นที่อยู่ หรือเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายให้ กระทำการแทนบุคคลดังกล่าว หรือมีคำรับรองของบุคคลซึ่งกฎหมายของประเทศนั้นให้มีอำนาจรับรองลายมือชื่อ หรือ
2) ในกรณีที่หนังสือมอบอำนาจนั้นได้กระทำในประเทศไทย ต้องส่ง ภาพถ่ายหนังสือเดินทาง หรือภาพถ่ายหนังสือรับรองถิ่นที่อยู่ชั่วคราว หรือหลักฐานอื่นที่แสดงให้อธิบดีเห็นว่าในขณะมอบอำนาจผู้นั้นได้ได้เข้ามาในประเทศไทยจริง
2.2 ในกรณีที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรประสงจะมอบอำนาจให้บุคคลอื่น กระทำการแทน จะมอบอำนาจให้แก่ตัวแทนซึ่งได้ขึ้นทะเบียนไว้กับอธิบดีเป็นผู้กระทำการแทนได้เท่านั้น
2.3 ในกรณีที่หนังสือมอบอำนาจหรือคำรับรองตามข้อง 2.1) 1 จัดทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศ ให้ผู้ยื่นหนังสือดังกล่าวจัดให้มีคำแปลเป็นภาษาไทย โดยมีคำร้องรองของผู้แปลและผู้รับมอบอำนาจว่าเป็นคำแปลภาษาไทยที่ถูกต้องตรงกับหนังสือมอบอำนาจหรือคำรับรองนั้น และยื่นคำแปลดังกล่าวพร้อมกับหนังสือมอบอำนาจหรือคำรับรอง แล้วแต่กรณี
การตรวจสอบเบื้องต้น
ผู้ตรวจสอบจะเป็นผู้ตรวจสอบพิจารณาสั่งแก้ไขเพิ่มเติมเห็นว่าไม่ถูกต้องด้วยลักษณะดังต่อไปนี้
1. ความถูกต้องของรายละเอียดในแบบพิมพ์คำขอรับสิทธิบัตรและเอกสารประกอบคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่น ชื่อที่แสดงถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ ชื่อผู้ขอรับสิทธิบัตรสถานที่ติดต่อได้ในประเทศไทย ชื่อผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์สถานที่ติดต่อได้ในประเทศไทย ชื่อตัวแทนสิทธิบัตรสถานที่ติดต่อได้ในประเทศไทย หากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ตรวจสอบจะมีคำสั่งให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรจะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องและยื่นคำขอแก้ไขภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
2. ข้อถือสิทธิคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ จะให้ระบุข้อถือสิทธิได้เพียงข้อเดียวโดยผู้ขอรับสิทธิบัตรจะต้องระบุขอบเขตของสิทธิในแบบผลิตภัณฑ์ที่ประสงค์จะขอรับความคุ้มครองให้ชัดเจนและให้สอดคล้องกับภาพแสดงแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้แสดงไว้ในคำขอรับสิทธิบัตร
3. ภาพแสดงแบบผลิตภัณฑ์ การแสดงภาพของแบบผลิตภัณฑ์ที่จะขอความรับคุ้มครองนั้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงขอบเขตของความคุ้มครองที่จะได้รับในรูปร่างลักษณะ หรือลวดลาย หรือสี ของแบบผลิตภัณฑ์นั้นโดยภาพแสดงแบบผลิตภัณฑ์ต้องแสดงให้เห็นรายละเอียดภายนอกของแบบผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจนทุกด้าน และถูกต้องเป็นไปตามหลักวิชาการเขียนแบบ เพื่อใช้สำหรับเป็นแบบในการผลิตในทางอุตสาหกรรมหรือหัตถกรรมได้สามารถแสดงได้ 2 แบบคือ รูปเขียน หรือ ภาพถ่าย
3.1. รูปเขียนจะต้องแสดงให้เห็นรายละเอียดของแบบผลิตภัณฑ์ภายนอกอย่างชัดเจน ต้องแสดงรูปด้านให้ครบทุกด้านและรูปทัศนียภาพ (3มิติ) ให้เป็นไปตามหลักวิชาการเขียนแบบ
3.2. ภาพถ่ายจะต้องแสดงให้เห็นรายละเอียดของแบบผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน ต้องแสดงรูปด้านให้ครบทุกด้านและรูปทัศนียภาพ (3มิติ) พื้นหลังของแบบผลิตภัณฑ์ต้องเป็นพื้นเรียบและต้องแสดงเป็นภาพขาวดำ เว้นแต่กรณีที่แบบผลิตภัณฑ์ประกอบด้วยองค์ประกอบของสี ภาพแบบผลิตภัณฑ์ต้องแสดงเป็นภาพสี
4. พิจารณาว่าแบบผลิตภัณฑ์ที่ยื่นขอรับสิทธิบัตรนั้น เป็นแบบผลิตภัณฑ์อันมีลักษณะพิเศษสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมได้หรือไม่
5. ในการพิจารณา ผู้ตรวจสอบอาจมีหนังสือสอบถามหรือเรียกผู้ขอจดทะเบียน มาให้ถ้อยคำหรือทำคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานใดเกี่ยวกับการขอจดทะเบียน เท่าที่จำเป็นเพื่อตรวจสอบหรือเพื่อประกอบการพิจารณาได้
6. ขั้นตอนการตรวจสอบเบื้องต้น มีสาระที่จะต้องตรวจสอบตามกฎหมาย คือ
6.1 มาตรา 65 ประกอบมาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 13 มาตรา 14 มาตรา 15 เป็นการตรวจสอบในเรื่องสิทธิในการขอรับสิทธิบัตร
6.2 มาตรา 58 เป็นการตรวจสอบในเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ขอรับสิทธิบัตรไม่ได้
6.3 มาตรา59 กับกฎกระทรวง ฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2542) ออกตามในพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 พร้อมแก้ไขเพิ่มเติม โดยนำข้อ 2 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ ข้อ 4 วรรคหนึ่ง ข้อ 7 ข้อ 9 ข้อ 12 ข้อ 13 ข้อ 14 ข้อ 15 ข้อ 16 ว่าด้วยการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์มาใช้โดยอนุโลม และ ข้อ 17 ข้อ 18 ข้อ 19 ข้อ 20 ข้อ 22 เป็นการตรวจสอบในเรื่องความถูกต้องของการจัดเตรียมคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย แบบพิมพ์คำขอ ข้อถือสิทธิ รูปเขียน ภาพถ่าย และเอกสารประกอบคำขอ
6.4 มาตรา 65 ประกอบมาตรา 19 เป็นการตรวจเรื่องการขอสิทธิวันยื่นคำขอ
6.5 มาตรา 65 ประกอบมาตรา 22 เป็นการตรวจเรื่องการรักษาไว้เป็นความลับ
6.6 มาตรา60 ทวิ เป็นการตรวจเรื่องการขอสิทธิวันยื่นคำขอในต่างประเทศเป็นวันยื่นคำขอรับสิทธิบัตร
6.7 ค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอ กรณียกเว้นค่าธรรมเนียมตามประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องค่าธรรมเนียม
6.8 การพิจารณาวันยื่นคำขอ ณ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด และยื่นโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
7. ผลการตรวจสอบเบื้องต้น
7.1 กรณีที่เอกสารและภาพแสดงแบบผลิตภัณฑ์ถูกต้องครบถ้วน เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ชำระประกาศโฆษณาตามมาตรา 28 วรรค 2
7.2 กรณีที่เอกสารและภาพแสดงแบบผลิตภัณฑ์ไม่ถูกต้องครบถ้วน เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ยื่นแก้ไขตามมาตรา 59
การยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติม
ให้ผู้ยื่นคำขอยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมพร้อมกับชำระค่าธรรมเนียมคำขอแก้ไขเพิ่มเติม ต่อเจ้าหน้าที่ ณ ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงกองสิทธิบัตรออกแบบกรมทรัพย์สินทางปัญญา ผู้ขอรับสิทธิบัตรยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่/หรือยื่นแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรเองต้องยื่นภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด (ตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่) โดยเสียค่าธรรมเนียมจำนวน 50บาทต่อ 1 คำขอ
- ทั้งนี้ผู้ยื่นคำขอจะต้องดำเนินการแก้ไขภายใน 90 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้ง หากดำเนินการไม่ทันให้ทำหนังสือขอผ่อนถึงอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา หากพ้นกำหนดระยะเวลาถือว่าผู้ขอละทิ้ง ตามมาตรา 27
ประกาศโฆษณา
ให้ผู้ยื่นคำขอยื่นชำระค่าธรรมเนียมประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรต่อเจ้าหน้าที่ ณ ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงกองสิทธิบัตรออกแบบกรมทรัพย์สินทางปัญญาพร้อมเอกสารขอชำระค่าธรรมเนียมประกาศโฆษณา
- กรณีผู้ขอไม่มาชำระค่าธรรมเนียมประกาศโฆษณาครั้งที่ 1 ตามวันที่กำหนดภายในระยะเวลา 60 วัน (นับจากวันที่ผู้ขอรับหนังสือแจ้ง) ทางกองสิทธิบัตรออกแบบจะออกหนังสือแจ้งให้ชำระค่าธรรมเนียมประกาศโฆษณาครั้งที่ 2 ผู้ขอต้องมาชำระค่าธรรมเนียมตามวันที่กำหนดภายในระยะเวลา 60 วัน (นับจากวันที่ผู้ขอรับหนังสือแจ้ง)
- หากผู้ขอยังไม่มาชำระค่าธรรมเนียมประกาศโฆษณาครั้งที่ 2 กองสิทธิบัตรออกแบบจะดำเนินการทำละทิ้งคำขอตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตรพ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2542 ต่อไป
การยื่นคำคัดค้าน หากบุคคลใดเห็นว่าตนมีสิทธิรับสิทธิบัตรดีกว่าผู้ยื่นขอรับสิทธิบัตร หรือเห็นว่าคำขอรับสิทธิบัตรใดไม่ชอบด้วยมาตรา 5 , 9 , 10 , 11 หรือมาตรา 14 จะต้องยื่นภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันประกาศโฆษณา ตามมาตรา 31
การยื่นคำคัดค้าน ผู้คัดค้านจะต้องยื่นคำคัดค้าน (แบบสป/สผ/007-ค) พร้อมระบุเหตุผลที่ใช้ในการคัดค้าน ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ประกาศโฆษณา ต่อเจ้าหน้าที่ ณ ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงกองสิทธิบัตรออกแบบกรมทรัพย์สินทางปัญญาพร้อมเงินค่าธรรมเนียม และพร้อมแนบเอกสารหลักฐาน
- ผู้ยื่นคำคัดค้านสามารถดำเนินการยื่นคำขอนำพยานเอกสารหลักฐานหรือคำแถลงเพิ่มเติมคำคัดค้าน (แบบสป/สผ/007-ก(พ)) ภายใน 30 วันนับแต่วันยื่นคำคัดค้าน (กรณีผู้ขอมีความประสงค์จะนำพยานเอกสารหลักฐานคัดค้านยื่นประกอบเพิ่มเติม)
การยื่นคำโต้แย้ง เมื่อผู้ขอรับสิทธิบัตรได้รับหนังสือแจ้งการคัดค้าน ผู้ขอรับสิทธิบัตรจะต้องยื่นคำโต้แย้ง(แบบสป/สผ/008-ก) พร้อมรายละเอียดคำโต้แย้งภายใน 90 วันนับแต่วันที่รับหนังสือแจ้ง ต่อเจ้าหน้าที่ ณ ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงกองสิทธิบัตรออกแบบกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม และพร้อมแนบเอกสารหลักฐาน (มีหรือไม่มีก็ได้)
- ผู้ขอรับสิทธิบัตรสามารถดำเนินการยื่นคำขอนำพยานเอกสารหลักฐานหรือคำแถลงเพิ่มเติมคำโต้แย้ง (แบบสป/สผ/007-ก(พ)) ภายใน 30 วันนับแต่วันยื่นคำโต้แย้ง (กรณีผู้ขอมีความประสงค์จะนำพยานเอกสารหลักฐานโต้แย้งยื่นประกอบเพิ่มเติม)
การแจ้งผลคำวินิจฉัยของอธิบดี ถ้าผู้คัดค้านหรือผู้ขอรับสิทธิบัตรไม่เห็นด้วยต่อคำวินิจฉัยของอธิบดี สามารถจะยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรภายใน 60 วันนับแต่วันที่รับหนังสือแจ้ง ต่อเจ้าหน้าที่ ณ ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงกองสิทธิบัตรออกแบบกรมทรัพย์สินทางปัญญาพร้อมเงินค่าธรรมเนียม และพร้อมแนบเอกสารหลักฐาน
การพิจารณาความใหม่ของแบบผลิตภัณฑ์
1. โดยพิจารณาจากคำขอที่ประกาศโฆษณาครบ 90 วัน และไม่มีการคัดค้าน
2. ในกรณีมีการคัดค้านให้ถือว่าผลของคำวินิฉัยยกคำขอรับสิทธิบัตร ซึ่งผู้ขอรับสิทธิบัตรไม่ได้มีการอุทธรณ์ตามระยะเวลาที่กฏหมายกำหนด จึงถือว่าผลคำวินิจฉัยนั้นสิ้นสุด (ไม่ต้องพิจารณาต่อไป)
3.การพิจารณารับจดทะเบียน จะพิจารณาการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นสาระสำคัญที่ขอรับความคุ้มครองตามข้อถือสิทธิ รูปร่าง ลักษณะของแบบผลิตภัณฑ์ที่ขอรับสิทธิบัตร ซึ่งการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะรับจดทะเบียนได้ ต้องมีสาระที่ต้องตรวจสอบตามกฏหมายคือ
3.1 มาตรา 16 เป็นการตรวจสอบเรื่องสิทธิซึ่งบุคคลที่ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรไว้ก่อนเป็นผู้มีสิทธิรับสิทธิบัตร
3.2 มาตรา 56 เป็นการตรวจสอบเรื่องการสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรม
3.3 มาตรา 57 เป็นการตรวจสอบเรื่องความใหม่
3.4 มาตรา 60 เป็นการตรวจเรื่องคำขอรับสิทธิบัตรแต่ละฉบับ ให้ขอได้เฉพาะแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับผลิตภัณฑ์อย่างเดียว
4.การพิจารณาตามกฎกระทรวงฉบับที่ 22 (2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ข้อ 11 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยื่นขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นไปตามมาตรา 56 หรือไม่ โดยพิจารณาว่ามีการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เปิดเผยสาระสาคัญ หรือรายละเอียดในเอกสาร หรือสิ่งพิมพ์ที่ได้จัดสารบบไว้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบหรือไม่สารบบการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่จัดไว้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบนี้ในทางสากลจะจัดระบบโดยการจำแนกประเภทของการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้เป็นจำพวกที่เรียกกันว่า Locarno Design Classification ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาไทยจำแนกแบบผลิตภัณฑ์ตามประเภทของผลิตภัณฑ์สากลเช่นกัน โดยจัดเก็บข้อมูลแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้เปิดเผยในประกาศโฆษณคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ นับแต่ปี พ.ศ.2533 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันในปัจจุบันนี้สามารถตรวจค้นในรูปสิ่งตีพิมพ์และสามารถเข้าสืบค้นงานที่ปรากฏอยู่แล้วจากระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ประโยชน์เป็นเอกสารงานที่ปรากฏอยู่แล้ว เพื่อพิจารณาความใหม่ของคำขอที่ยื่น
5.การตรวจสอบสาระสำคัญการออกแบบผลิตภัณฑ์ ในขั้นตอนนี้ เป็นการพิจารณาสาระสำคัญของภาพแบบผลิตภัณฑ์ที่ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรกับแบบผลิตภัณฑ์ที่ปรากฎอยู่แล้ว โดยผู้ตรวจสอบต้องดำเนินการตรวจค้นภาพแบบผลิตภัณฑ์ที่ปรากฏอยู่แล้วทั้งภายในประเทศและต่างประเทศในแบบผลิตภัณฑ์จำพวกเดียวนั้น แล้วนำภาพแบบผลิตภัณฑ์ที่มีรูปร่างลักษณะใกล้เคียงกันมาพิจารณาเปรียบเทียบ
5.1 หากพบว่าแบบผลิตภัณฑ์ที่ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรไม่มีลักษณะคล้ายหรือเหมือนกับภาพแบบผลิตภัณฑ์ที่ปรากฎอยู่แล้ว ผู้ตรวจสอบจะทำรายงานเสนอรับจดทะเบียน ตามมาตรา 56 และออกหนังสือแจ้งชำระค่ารับจดทะเบียนสิทธิบัตร
5.2 หากพบว่าแบบผลิตภัณฑ์ที่ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรมีลักษณะคล้ายหรือเหมือนกับภาพแบบผลิตภัณฑ์ที่ปรากฎอยู่แล้ว ผู้ตรวจสอบจะทำรายงานเสนอยกคำขอ ตามมาตรา 57 และออกหนังสือแจ้งผู้ขอรับสิทธิบัตร
- หากผู้ขอรับสิทธิบัตรไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของเจ้าหน้าที่สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรภายใน 60 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้ง พร้อมเงินค่าธรรมเนียม และพร้อมแนบเอกสารหลักฐาน
การออกหนังสือสำคัญ
ให้ผู้ยื่นคำขอยื่นชำระค่าธรรมเนียมรับจดทะเบียนสิทธิบัตรคำขอรับสิทธิบัตรต่อเจ้าหน้าที่ ณ ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงกองสิทธิบัตรออกแบบกรมทรัพย์สินทางปัญญา
- หากผู้ขอรับสิทธิบัตรไม่ชำระค่าธรรมเนียมและยื่นเอกสารหลักฐานตามที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้ง ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดภายใน 60 วัน ถือว่าละทิ้งคำขอ ตามมาตรา 33
หมายเหตุ
ขั้นตอนการดำเนินงานตามคู่มือสำหรับประชาชนจะเริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารว่ามีความถูกต้องครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในคู่มือบริการประชาชนเรียบร้อยแล้ว
กรณีที่คำขอหรือเอกสารหลักฐานไม่ถูกต้องครบถ้วน เจ้าหน้าที่จะจัดทำบันทึกความบกพร่องของรายการเอกสารหรือเอกสารหลักฐานที่ต้องยื่นเพิ่มเติม (บันทึกข้อตกลงการรับคำขอ) โดยผู้ยื่นคำขอจะต้องดำเนินการแก้ไขและ/หรือยื่นเอกสารเพิ่มเติมภายในกำหนดระยะเวลา 90 วันนับแต่วันยื่นคำขอและในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่ดำเนินการส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ครบถ้วนภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวให้ถือว่าผู้ยื่นคำขอละทิ้งคำขอโดยเจ้าหน้าที่จะดำเนินการคืนคำขอให้แก่ผู้ยื่นคำขอพร้อมทั้งแจ้งเหตุแห่งการคืนคำขอและสิทธิในการอุทธรณ์ให้ทราบด้วย
เมื่อผู้ยื่นคำขอได้ชำระเงินค่าธรรมเนียมใดๆ ให้แก่กรมทรัพย์สินทางปัญญาไปแล้ว จะขอคืนค่าธรรมเนียมดังกล่าวไม่ได้ไม่ว่าในกรณีใดๆ เว้นแต่ (1) มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้คืนค่าธรรมเนียม หรือ (2) ชำระค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อนหรือชำระเกิน ซึ่งการชำระดังกล่าว เกิดเนื่องจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมิใช่ความผิดของผู้ชำระซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะได้พิจารณาเป็นกรณีๆ ไป
ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอต้องนำเอกสารหรือหลักฐานหลายรายการมายื่นเพิ่มเติมให้ครบถ้วน ให้ผู้ยื่นคำขอนำเอกสารหรือหลักฐานมายื่นพร้อมกันทั้งหมดในคราวเดียวกัน
ในกรณีที่จะต้องส่งสำเนาเอกสารหลักฐาน ให้ผู้ยื่นคำขอรับรองความถูกต้องของสำเนาเอกสารหลักฐานนั้นด้วย
ในกรณีที่จะต้องส่งเอกสารเป็นภาษาต่างประเทศ ให้ผู้ยื่นคำขอส่งเอกสารนั้นพร้อมด้วยคำแปลเป็นภาษาไทยโดยมีคำรับรองของผู้แปลว่าเป็นคำแปลที่ถูกต้อง
ในกรณีที่คำขอไม่ถูกต้องหรือมีเอกสารไม่ถูกต้องครบถ้วน และผู้ยื่นคำขอ (เจ้าของคำขอ) หรือตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจไม่ได้เป็นผู้ยื่นคำขอด้วยตนเอง เนื่องจากได้ทำการมอบอำนาจให้บุคคลอื่นเป็นผู้ยื่นคำขอแทน จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจช่วงหรือหนังสือมอบอำนาจเฉพาะการให้บุคคลนั้นมีอำนาจยื่นคำขอแทนและมีอำนาจลงนามในบันทึกข้อตกลงการรับคำขอด้วยหากไม่มีหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวข้างต้น อาจทำให้เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจรับคำขอได้
ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอได้ดำเนินการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ คำร้องหรือคำขออื่นๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต และปรากฏว่าคำขอไม่ถูกต้องครบถ้วนเป็นเหตุให้ไม่สามารถพิจารณาได้ให้ผู้ยื่นคำขอนำส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ถูกต้องครบถ้วนภายในระยะเวลาเดียวกันกับการนำส่งคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ คำร้องหรือคำขออื่นๆ ที่ได้ยื่นทางอินเทอร์เน็ตมายังกรมทรัพย์สินทางปัญญา (ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับเลขที่คำขอและวันยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์) ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะแจ้งผลการตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนและระยะเวลาดังกล่าวผ่านทาง e-mail ที่ผู้ยื่นคำขอได้ให้ไว้ภายในวันทำการถัดไป
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
1368สายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา
รองรับการทำงานบน Microsoft Edge , Firefox , Safari , Chrome , Opera และรองรับการแสดงผลบน Mobile Devices
สงวนลิขสิทธิ์ © 2564 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์