1. การยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ต้องใช้เอกสารหลักฐานอะไรบ้าง
คำตอบ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องใช้เอกสารหลักฐานดังนี้
1. ต้นฉบับคำขอจดทะเบียน (แบบ ก. 01)
2. รูปเครื่องหมายที่ขอจดทะเบียน ขนาดไม่เกิน 5 X 5 เซนติเมตร จำนวน 5 รูป กรณีรูปเครื่องหมายเกินขนาดที่กำหนดต้องชำระค่าธรรมเนียมเพิ่มในส่วนที่เกิน เซนติเมตรละ 200 บาท
3. เอกสารประกอบการยื่น
3.1 กรณีบุคคลธรรมดา ใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรประจำตัวอื่นๆที่ทาง
ราชการออกให้ หรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง
3.2 กรณีนิติบุคคล ให้ใช้ต้นฉบับหนังสือรับรองนิติบุคคลที่ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน
3.3 กรณีมีการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจ ใช้หนังสือตั้งตัวแทนหรือหนังสือมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ 30 บาทต่อตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจ 1 คน และสำเนาบัตรประจำตัวของตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจ หากการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจได้กระทำในต่างประเทศ หนังสือตัวตัวแทนหรือมอบอำนาจจะต้องมีคำรับรองลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของสถานฑูตไทย หรือสถานกงสุลไทย หรือหัวหน้าสำนักงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งประจำอยู่ ณ ประเทศที่ผู้ตั้งตัวแทนหรือผู้มอบอำนาจมีถิ่นที่อยู่ หรือเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายให้กระทำการแทน หรือมีคำรับรองของบุคคลซึ่งกฎหมายของประเทศนั้น ให้มีอำนาจรับรองลายมือชื่อ
4. หลักฐานการใช้เครื่องหมายกรณีนำสืบลักษณะบ่งเฉพาะหรือหนังสือขอผ่อนผันการนำส่งหลักฐานดังกล่าว (ก. 19) (ถ้ามี)
2. การยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จะต้องชำระค่าธรรมเนียมอะไรบ้าง
คำตอบ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีค่าธรรมเนียมดังนี้
1. ค่าธรรมเนียมคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า รายการสินค้า/บริการ อย่างละ 1,000 บาท กรณีเกิน 5 รายการต่อจำพวกให้ชำระในอัตราเหมาจ่าย 9,000 บาทต่อจำพวก โดยชำระพร้อมการยื่นคำขอจดทะเบียน
2. ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า รายการสินค้า/บริการ อย่างละ 600 บาท กรณีเกิน 5 รายการต่อจำพวกให้ชำระในอัตราเหมาจ่าย 5,400 บาทต่อจำพวก โดยชำระเมื่อนายทะเบียนมีคำสั่งให้รับจดทะเบียนได้ภายใน 60 วันนับจากที่ได้รับคำสั่งดังกล่าว
3. การยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สามารถยื่นได้ที่ใดบ้าง
คำตอบ การยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สามารถกระทำได้ 5 ช่องทาง ดังนี้
1. ยื่นคำขอด้วยตนเอง ต่อนายทะเบียน ณ กลุ่มบริการตรวจรับคำขอ ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
2. ยื่นคำขอด้วยตนเอง ณ. สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ทุกจังหวัด
3. ยื่นคำขอโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ถึงนายทะเบียน สำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่อยู่ 563 ถนนนนทบุรี ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 พร้อมแนบเอกสารประกอบคำขอ และชำระค่าธรรมเนียมทางธนาณัติ (สั่งจ่ายนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า)
4. ยื่นคำขอทางอินเตอร์เน็ตกรมทรัพย์สินทางปัญญา (www.ipthailand.go.th) โดยไม่ต้องจัดส่งเอกสารมาที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา
5. ยื่นผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ณ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง (สนามบินน้ำ) ชั้น 4 ทั้งนี้ต้องยื่นพร้อมกับการยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลในคราวเดียวกัน
4. กรณีการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทางอินเตอร์เน็ตและชำระเงินค่าธรรมเนียมที่ธนาคารแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องทำอย่างไร
คำตอบ
ไม่ต้องจัดส่งเอกสารมาที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา
5. กรณีจดเครื่องหมายการค้าในนามบุคคลธรรมดา หากประสงค์จะเปลี่ยนแปลงเจ้าของเป็นในนามนิติบุคคลสามารถทำได้หรือไม่ หากทำได้จะต้องดำเนินการอย่างไร
คำตอบ กรณีดังกล่าวสามารถทำได้โดยใช้วิธีการโอนเครื่องหมายการค้า โดยมียื่นคำขอโอนและแนบเอกสารหลักฐานดังนี้
ใช้แบบฟอร์มแบบคำขอโอน (ก.04)
สัญญาโอน (ก.17) ลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน
สำเนาบัตรประจำตัวพร้อมลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องของผู้รับโอน (ผู้ขอจดทะเบียน)
ต้นฉบับหนังสือรับรองนิติบุคคลออกให้ไม่เกิน 6 เดือน ของผู้รับโอน
กรณีมีการมอบอำนาจใช้หนังสือมอบอำนาจ (ก.18) สำเนาบัตรประจำตัวผู้รับมอบอำนาจ
6. สัญลักษณ์ ® และ TM. หมายถึงอะไร และใช้กรณีใดบ้าง
คำตอบ สัญลักษณ์ ® ย่อมาจากคำว่า Registered หมายถึง การจดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนแล้ว เมื่อนำมาใช้กับเครื่องหมายการค้า แสดงได้ว่าเครื่องหมายนั้นได้รับการจดทะเบียนแล้ว
คำว่า TM. ย่อมาจากคำว่า Trademark หมายความว่า เครื่องหมายการค้า เมื่อนำไปใช้กับเครื่องหมาย หรือภาพ หรือคำใดแล้ว เป็นเพียงตัวอักษรที่แสดงให้เห็นว่า เครื่องหมาย หรือภาพ หรือคำดังกล่าวนั้นเป็นเครื่องหมายการค้าของตน ดังนั้น คำว่า TM. จึงสามารถใช้ได้กับทั้งเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้วและที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียน
7. กรณีต้องการทราบว่าสินค้าที่จะยื่นขอจดทะเบียนอยู่จำพวกใด สามารถค้นหาได้อย่างไรบ้าง
คำตอบ การสืบค้นรายการสินค้าสามารถดาวน์โหลดรายการสินค้าได้ที่ www.ipthailand.go.th เลือกบริการออนไลน์ เลือกตรวจสอบข้อมูลเครื่องหมายการค้าสำหรับประชาชน เลือกสืบค้นรายการสินค้าและบริการที่ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย
8. กรณีต้องการตรวจสอบความก้าวหน้าของการพิจารณาคำขอจดทะเบียนทางอินเตอร์เน็ตจะทำได้หรือไม่อย่างไร
คำตอบ การตรวจสอบความก้าวหน้าของการพิจารณาคำขอจดทะเบียนทางอินเตอร์เน็ตสามารถทำได้ โดยสามารถค้นหาจากเลขที่คำขอ และชื่อเจ้าของเครื่องหมายที่ยื่นขอจดทะเบียนไว้กับกรมฯ โดยมีขั้นตอนดังนี้
1. เข้าเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา www.ipthailand.go.th
2. เลือกบริการออนไลน์
3. เลือกตรวจสอบข้อมูลเครื่องหมายการค้าสำหรับประชาชน
4. เลือก ตรวจสอบสถานะคำขอจดทะเบียนเครื่องหมาย
5. ใส่เลขที่คำขอ
6. คลิก “ค้นหา”
9. การตรวจค้นเครื่องหมายที่จะขอจดทะเบียนว่าเหมือนหรือคล้ายเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นหรือไม่ สามารถตรวจค้นได้ทางใดบ้าง และมีค่าธรรมเนียมหรือไม่
คำตอบ การสืบค้นเครื่องหมายการค้า/บริการ ผู้ขอสามารถมาสืบค้นได้ 2 ทาง คือ
1. สืบค้นด้วยตนเองที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ชั้น 3 ซึ่งทางกรมจะมีเจ้าหน้าที่แนะนำวิธีการสืบค้น ซึ่งผู้ขอจะต้องชำระค่าธรรมเนียมในการตรวจค้นชั่วโมงละ 200 บาท
2. ผู้ขอสามารถสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต (ไม่มีค่าใช้จ่าย) โดย
2.1. เข้าเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา www.ipthailand.go.th
2.2. เลือกบริการออนไลน์
2.3. เลือกตรวจสอบความเหมือนคล้ายของเครื่องหมาย
หมายเหตุ – การตรวจค้นเครื่องหมายตาม 1. และ 2. ดังกล่าว เป็นเพียงการตรวจสอบเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งเครื่องหมายการค้าใดจะได้รับการจดทะเบียนหรือไม่ นายทะเบียนจะต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงและรายละเอียดของเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้ว โดยการพิจารณาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า
10. ในระหว่างที่ยื่นคำขอจดทะเบียนหากมีผู้มาทำละเมิดเครื่องหมายการค้า ผู้ยื่นขอจดทะเบียนสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่
คำตอบ กรณีเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนไว้แล้วแต่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียน จะยังไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า จึงไม่อาจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าได้ อย่างไรก็ตามหากเป็นในลักษณะของการลวงขาย หรือการเลียนรูปลอยประดิษฐ์ อาจฟ้องร้องดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญาและเรียกค่าเสียหายกรณีละเมิดตามกฎหมายแพ่งได้ แต่เมื่อเครื่องหมายการค้าได้รับการพิจารณาให้จดทะเบียนได้แล้วจะถือว่าได้รับการจดทะเบียนนับแต่วันที่ยื่นคำขอจดทะเบียน และหากมีผู้ละเมิดเครื่องหมายการค้าของท่านตลอดมาตั้งแต่ขณะยังไม่ได้จดทะเบียนจนมีการจดทะเบียนได้แล้ว ท่านสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดย้อนหลังไปจนถึงวันที่เริ่มมีการละเมิดเครื่องหมายได้
11. เครื่องหมายการค้าหรือบริการที่ถูกจำหน่ายไปแล้ว สามารถนำมายื่นขอจดทะเบียนใหม่ได้หรือไม่
คำตอบ เครื่องหมายการค้าหรือบริการที่ถูกจำหน่ายไปแล้วสามารถนำมายื่นขอจดทะเบียนใหม่ได้ อย่างไรก็ตามผู้ขอจดทะเบียนจะต้องตรวจสอบรายละเอียดของการพิจารณาถึงเหตุผลที่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียน หากเป็นเครื่องหมายที่ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ หากท่านนำมายื่นขอจดทะเบียนใหม่อาจจะไม่ได้รับการจดทะเบียนเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ นอกจากนี้หากเป็นเครื่องหมายการค้าที่ถูกเพิกถอนทางทะเบียนเนื่องจากไม่มีการต่ออายุ หากท่านนำเครื่องหมายการค้าเหล่านั้นมายื่นขอจดทะเบียน ท่านอาจถูกเจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิมฟ้องร้องต่อศาลให้เพิกถอนการจดทะเบียนได้ หากว่าเจ้าของเดิมพิสูจน์ได้ว่ายังคงใช้เครื่องหมายการค้านั้นในการประกอบธุรกิจการค้ามาโดยตลอดแม้จะไม่ได้มีการต่ออายุ
12. กรณีผู้ขอจดทะเบียนเปลี่ยนสถานที่ติดต่อที่เคยให้ไว้ในขณะยื่นคำขอจดทะเบียน จะต้องดำเนินการแจ้งทางกรมหรือไม่ และหากต้องแจ้งจะต้องดำเนินการอย่างไร โทรแจ้งได้ไหม
คำตอบ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการที่ระบุไว้ในคำขอจดทะเบียน ตามกฎกระทรวงกำหนดให้ผู้ขอจดทะเบียนจะต้องยื่นคำขอแก้ไขตามแบบที่อธิบดีกำหนด (แบบ ก.06) และต้องชำระค่าธรรมเนียมแก้ไขเปลี่ยนแปลง โดยก่อนจดทะเบียน 200 บาท ต่อหนึ่งคำขอ หลังจดจดทะเบียน 400 บาทต่อหนึ่งคำขอ ดังนั้น ผู้ขอจดทะเบียนจึงไม่อาจแจ้งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยการโทรศัพท์ได้
13. คำขอจดทะเบียนที่อยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการของนายทะเบียน หากผู้ขอต้องการเปลี่ยนรูปเครื่องหมายต้องทำอย่างไร
คำตอบ คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ยื่นไว้แล้ว หากผู้ขอต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสามารถทำได้ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่สาระสำคัญของเครื่องหมาย โดยการยื่นคำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลง (แบบก.06) และติดรูปเครื่องหมายใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนพร้อมชำระค่าธรรมเนียม 200 บาท แต่หากเป็นการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของเครื่องหมายจะไม่สามารถเปลี่ยนรูปเครื่องหมายได้เนื่องจากขัดต่อกฎกระทรวง ข้อ 14 แต่ผู้ขอสามารถยื่นขอจดทะเบียนเป็นคำขอใหม่ได้
14. ในกรณีเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้ว ต้องการเพิ่มรายการสินค้าใหม่ซึ่งอยู่ในจำพวกเดียวกันในคำขอเดิมได้หรือไม่
คำตอบ เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วหรือที่ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้แล้วจะไม่สามารถเพิ่มเติมจำนวนรายการสินค้าในคำขอดังกล่าวได้ เนื่องจากกฎกระทรวงกำหนดให้กรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนแก้ไขรายการสินค้าโดยเพิ่มรายการสินค้าในคำขอที่ยื่นขอจดทะเบียนไว้แล้วไม่ได้ ซึ่งหากผู้ขอจดทะเบียนต้องการเพิ่มรายการสินค้าจะต้องยื่นขอจดทะเบียนเป็นคำขอใหม่
1368สายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา
รองรับการทำงานบน Microsoft Edge , Firefox , Safari , Chrome , Opera และรองรับการแสดงผลบน Mobile Devices
สงวนลิขสิทธิ์ © 2564 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์