คำจำกัดความ
สิทธิบัตร หมายความว่า หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์
เจ้าหน้าที่ หมายความว่า เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
อนุญาต หมายความว่า การที่เจ้าหน้าที่ยินยอมให้บุคคลใดกระทำกาใดที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับความยินยอมก่อนกระทำการนั้นและให้หมายความรวมถึงการออกใบอนุญาต
การอนุมัติ การจดทะเบียน การขึ้นทะเบียน การรับแจ้งการให้ประทานบัตรและการให้อาชญาบัตรด้วย
ผู้อนุญาต หมายความว่า ผู้ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจในการอนุญาต
พนักงานเจ้าหน้าที่ หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการ
คำขอ หมายความถึง บรรดาคำขอดังนี้
* คำขอรับความคุ้มครองการประดิษฐ์ในประเทศไทย [แบบสป/อสป/001-ก (PCT)]
* คำขอแก๋ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตร/นุสิทธิบัตร [แบบสป/สผ/อสป/003-ก]
* คำขอเปลี่ยนแปลงประเภทของสิทธิ [แบบสป/อสป/004-ก]
* คำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ [แบบสป/อสป/005-ก]
* คำขอตรวจค้นคำขอรับสิทธิษัตร/นุสิทธิบัตรและคัดสำเนาเอกสาร [แบบสป/ สผ/อสป/006-ก]
* คำคัดค้านการขอรับสิทธิบัตร [แบบสป/สผ/007-ค]
* คำขอนำพยานหลักฐานมาแสดงหรือแถลงเพิ่มเติม [แบบสป/สผ/007-ก(พ)]
* คำโต้แย้ง [แบบสป/สผ/008-ก]
* คำอุทธรณ์ [แบบสป/สผ/อสป/009-ก]
* คำขออื่นๆ [แบบสป/สผ/อสป/011-ก]
ผู้รับบริการหรือยื่นคำขอ หมายถึง ประชาชนผู้รับบริการโดยตรง หรือหน่วยงานภาคเอกชน หรือภาครัฐที่มารับบริการจากหน่วยงานของรัฐ
หลักเกณฑ์ในการพิจารณา
1. การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ต้องประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้
1.1 เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่
1.2 เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นและ
1.3 เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม
1.4 การประดิษฐ์ดังต่อไปนี้ไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ นี้
(1) จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติสัตว์ พืช หรือสารสกัดจากสัตว์ หรือพืช
(2) กฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
(3) ระบบข้อมูลสำหรับการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์
(4) วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์ หรือสัตว์
(5) การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีอนามัย หรือสวัสดิภาพของประชาชน
2. คำขอรับสิทธิ บัตรผู้ยื่นคำขอต้องมีรายละเอียดประกอบคำขอดังนี้
2.1 แบบพิมพ์คำขอ[แบบสป/อสป/001-ก (PCT)]
2.2 รายละเอียดการประดิษฐ์ ต้องบรรยายรายละเอียด ที่มีข้อความสมบูรณ์ รัดกุม และชัดแจ้งนจะทำให้ผู้มีความชำนาญในระดับสามัญในศิลปะ หรือวิทยาการที่เกี่ยวข้องสามารถทำและปฏิบัติตามการประดิษฐ์นั้นได้ ดังนี้
(1) ชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์
(2) ระบุสาขาวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์
(3) ภูมิหลังของศิลปะ หรือวิทยาการที่เกี่ยวข้อง อันจะทำให้เข้าใจการประดิษฐ์นั้นดีขึ้นและเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบ ทั้งนี้ ให้ระบุเอกสารที่เกี่ยวข้องด้วย (ถ้ามี)
(4) อธิบายลักษณะและความมุ่งหมายของการประดิษฐ์
(5) เปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์
(6) อธิบายรูปเขียนแต่ละรูปโดยย่อ (ถ้ามี)
(7) วิธีการในการประดิษฐ์ที่ดีที่สุด
2.3 ข้อถือสิทธิ ต้องระบุลักษณะของการประดิษฐ์ที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรประสงค์จะขอความคุ้มครองโดยสมบูรณ์ รัดกุม และชัดแจ้ง รวมทั้งต้องสอดคล้องกับรายละเอียดการประดิษฐ์
2.4 รูปเขียน (ถ้ามี) ต้องชัดแจ้ง สอดคล้องกับรายละเอียดการประดิษฐ์และเป็นไปตามหลักวิชาการเขียนแบบ และให้หมายความรวมถึงแผนภูมิและแผนผังด้วย
2.5 บทสรุปการประดิษฐ์ ต้องสรุปสาระสำคัญของการประดิษฐ์ได้เปิดเผย หรือแสดงไว้ในรายละเอียดการประดิษฐ์ ข้อถือสิทธิ และรูปเขียน (ถ้ามี) โดยต้องระบุลักษณะทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับกรประดิษฐ์โดยย่อ แต่ต้องเป็นไปในลักษณะที่จะทำให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงปัญหาทางเทคนิค ตลอดจนการแก้ปัญหาโดยการประดิษฐ์และการใช้การประดิษฐ์นั้น
2.6 รายการอื่นตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 21
2.7 เอกสารประกอบคำขอ ตามที่ระบุในข้อ 8 ของ [แบบสป/อสป/001-ก (PCT)]
เงื่อนไขในการยื่นคำขอ
1. ในการขอรับสิทธิบัตรให้ผู้ขอยื่นคำขอตามแบบพิมพ์ที่อธิบดีกำหนด
1.1 คำขอรับสิทธิ บัตรต้องมีรายละเอียดการประดิษฐ์ ข้อถือสิทธิและบทสรุปการประดิษฐ์ยื่นไปพร้อมกับคำขอและในกรณีที่จำเป็น เพื่อให้สามารถเข้าใจการประดิษฐ์ได้ดีขึ้น ให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรจัดให้มีรูปเขียนประกอบคำขอรับสิทธิบัตรยื่นไปพร้อมกับคำขอด้วย
1.2 ในกรณีที่การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรเป็นการประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับจุลชีพใหม่ รายละเอียดการประดิษฐ์ให้หมายถึงหนังสือรับรองการฝากเก็บจุลชีพและ/หรือเอกสารแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะ หรือคุณสมบัติของจุลชีพนั้นซึ่งออกให้โดยสถาบันรับฝากเก็บจุลชีพที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะประกาศรายชื่อเป็นคราวๆ ไป
2. การมอบอำนาจ
2.1 กรณีที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรไม่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ให้มอบอำนาจให้ตัวแทนซึ่งได้ขึ้นทะเบียนไว้กับอธิบดีเป็นผู้กระทำการแทนในราชอาณาจักโดยยื่นหนังสือมอบอำนาจต่ออธิบดีตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่การมอบอำนาจนั้นได้กระทำในต่างประเทศหนังสื่อมอบอำนาจนั้นต้องมีคำรับรองลายมือชื่อโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของสถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทย หรือหัวหน้าสำนักงานสังกัดกระทวงพาณิชย์ซึ่งประจำอยู่ ณ ประเทศที่ผู้มอบอำนาจมีถิ่นที่อยู่ หรือเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการแทนบุคคลดังกล่าว หรือคำรับรองของบุคคลซึ่งกฎหมายของประเทศนั้นให้มีอำนาจรับรองลายมือชื่อ หรือ
(2) ในกรณีที่หนังสือมอบอำนาจนั่นได้กระทำในประเทศไทยต้องส่งภาพถ่ายหนังสือเดินทาง หรือภาพถ่ายหนังสือรับรองถิ่นที่อยู่ชั่วคราว หรือหลักฐานอื่นที่แสดงให้อธิบดีเห็นว่าในขณะมอบอำนาจผู้นั้นได้เข้ามาในประเทศไทยจริง
2.2 ในกรณีที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรประสงค์จะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทน จะมอบอำนาจให้แกตัวแทนซึ่งได้ขึ้นทเบียนไว้กับอธิบดีเป็นผู้กระทำการแทนได้เท่านั้น
2.3 หนังสือมอบอำนาจดังกล่าว จะต้องปิดอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ดังนี้
(1) กรณีมอบอำนาจให้บุคคลเดียว หรือหลายคนกระทำการครั้งเดียว ให้ปิดอากร 10 บาท
(2) กรณีมอบอำนาจให้บุคคลเดียว หรือหลายคนร่วมกระทำการมากกว่าครั้งเดียว ให้ปิดอากร 30 บาท
(3) กรณีมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยให้บุคคลหลายคน ให้ปิดอากรคิดตามรายบุคคลที่รับมอบคนละ 30 บาท
การดำเนินการตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่
1. ในกรณีพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาคำขอแล้ว ถ้าปรากฏมีสิ่งบกพร่องที่พอจะแก้ไขได้ เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ขอ หรือตัวแทนของผู้ขอทราบ เพื่อให้ทำการแก่ไขให้ถูกต้องทั้งนี้ผู้ยื่นคำขอจะต้องดำเนินการแก้ไขภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งหากพ้นระยะเวลาจะถือว่าผู้ขอละทิ้งคำขอ ตามมาตรา 27 เว้นแต่กรณีที่มีเหตุจำเป็นอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาอาจขยายกำหนดเวลาดังกล่าวให้ตามเห็นสมควร
2. การยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อผู้ยื่นคำขอดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมคำขอเรียบร้อยแล้ว ผู้ยื่นคำขอต้องมาดำเนินการยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติมพร้อมทั้งต้องชำระค่าธรรมนียมที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ คำขอที่แก้ไขเพิ่มเติมจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาการตรวจสอบเบื้องต้นตามลำดับเสมือนการยื่นคำขอใหม่
3. ในกรณียื่นคำขอทางอินเทอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา นักงานเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบ จะดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล และรายละเอียดในคำขอรับสิทธิบัตร หรืออนุสิทธิ บัตร คำร้อง หรือคำขออื่นๆ จากข้อมูลและรายละเอียดที่ปรากฏในระบบ e-Filing เป็นสำคัญ ซึ่งการตรวจสอบคำขอที่ยื่นผ่านทางอินเทอร์เน็ต จะดำเนินการตามประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขสำหรับการยื่นคำขอรับสิทธิบัตร หรืออนุสิทธิบัตรคำร้อง หรือคำขออื่นๆ ผ่านทางระบบจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) ฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2561
หมายเหตุ
1. ขั้นตอนการดำเนินงานตามคู่มือสำหรับประชาชนจะเริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารว่ามีความถูกต้องครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในคู่มือบริการประชาชนเรียบร้อยแล้ว
2. กรณีที่คำขอ หรือเอกสารหลักฐานไม่ถูกต้องครบถ้วนเจ้าหน้าที่จะจัดทำบันทึกความบกพร่องของรายการเอกสาร หรือเอกสารหลักฐานที่ต้องยื่นเพิ่มเติม (บันทึกข้อตกลงการรับคำขอ โดยผู้ยื่นคำขอจะต้องดำเนินการแก้ไขและ/หรือยื่นเอกสารเพิ่มเติม ภายในกำหนดระยะเวลา 90 วัน นับถัดจากวันยื่นคำขอและในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่ดำเนินการส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ครบถ้วน ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวให้ถือว่าผู้ยื่นคำขอละทิ้งคำขอ โดยเจ้าหน้าที่จะดำเนินการคืนคำขอให้แก่ผู้ยื่นคำขอพร้อมทั้งแจ้งเหตุแห่งการคืนคำขอและสิทธิในการอุทธรณ์ให้ทราบด้วย
3. เมื่อผู้ยื่นคำขอได้ชำระเงินค่าธรมนียมใดๆ ให้แก่กรมทรัพย์สินทางปัญญาไปแล้วจะขอคืนค่าธรรมเนียมดังกล่าวไม่ได้ไม่ว่าในกรณีใดๆ เว้นแต่
(1) มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้คืนค่าธรรมเนียมหรือ
(2) ชำระค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน หรือชำระเกินซึ่งการชำระดังกล่าวเกิดเนื่องจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐโดยมิใช่ความผิดของผู้ชำระซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะได้พิจารณาเป็นกรณีๆ ไป
4. ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอต้องนำเอกสาร หรือหลักฐานหลายรายการมายื่นเพิ่มเติมให้ครบถ้วน ให้ผู้ยื่นคำขอนำเอกสาร หรือหลักฐานมายื่นพร้อมกันทั้งหมดในคราวเดียวกัน
5. ในกรณีที่จะต้องส่งสำเนาเอกสารหลักฐานให้ผู้ยื่นคำขอรับรองความถูกต้องของสำเนาเอกสารหลักฐานนั้นด้วย
6. ในกรณีที่จะต้องส่งเอกสารเป็นภาษาต่างประเทศ ให้ผู้ยื่นคำขอส่งเอกสารนั้นพร้อมด้วยคำแปลเป็นภาษาไทย โดยมีคำรับรองของผู้แปลว่าเป็นคำแปลที่ถูกต้อง
7. ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอ หรือตัวแทนผู้รับมอบอำนาจไม่ได้เป็นผู้ยื่นคำขอด้วยตนเอง โดยมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้ยื่นคำขอแทนควรมีหนังสือมอบอำนาจช่วง หรือหนังสือมอบอำนาจเฉพาะการให้บุคคลนั้นมีอำนาจยื่นคำขอและลงนามในบันทึกข้อตกลงการรับคำขอแทนผู้ยื่นคำขอ หรือตัวแทนได้เพราะหากคำขอไม่ถูกต้อง หรือเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วนและบุคคลผู้ยื่นคำขอไม่มีอำนาจลงนามในบันทึกดังกล่าวเจ้าหน้าที่ไม่อาจรับคำขอของท่านไว้ได้
8. ทั้งนี้ ไม่นับระยะเวลาที่ผู้ขอต้องดำเนินการตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือระยะเวลาที่ผู้ขอแก้ไขคำขอ หรือการขอให้ระงับการดำเนินการทางทะเบียนไว้ชั่วคราว หรือระยะเวลาที่ผู้ขอต้องยื่นรายงานผลการตรวจสอบจากต่างประเทศ และไม่นับระยะเวลาที่ผู้ขอต้องยื่นคำขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการประดิษฐ์ภายใน 5 ปีนับแต่วันประกาศโฆษณา
9. การคัดค้าน/โต้แย้ง
กรณีที่มีผู้ยื่นคำคัดคานเพราะเห็นว่าตนมีสิทธิรับสิทธิบัตรดีกว่าผู้ขอรับสิทธิบัตร หรือเห็นว่าคำขอรับสิทธิบัตรไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีนี้ ระยะเวลาดำเนินการจะเพิ่มอีก 420 วัน
10. ผู้ขอรับสิทธิบัตรมีสิทธิขอเปลี่ยนแปลงประเภทของสิทธิที่จะขอรับสิทธิบัตรเป็นอนุสิทธิบัตรได้ ก่อนการจดทะเบียนการประดิษฐ์ หรือก่อนการประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรตามมาตรา 28 แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ผู้ขอมีสิทธิให้ถือเอาวันยื่นคำขอเดิมหรือวันที่เปลี่ยนแปลงสิทธิเป็นวันยื่นคำขอ
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
1368สายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา
รองรับการทำงานบน Microsoft Edge , Firefox , Safari , Chrome , Opera และรองรับการแสดงผลบน Mobile Devices
สงวนลิขสิทธิ์ © 2564 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์