หลักเกณฑ์ในการพิจารณา
ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีแห่งสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (Patent Cooperation Treaty) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ผู้ยื่นคำขอรับความคุ้มครองการประดิษฐ์ที่มีสัญญาชาติ หรือภูมิลำเนาของประเทศภาคีแห่งสนธิสัญญาสามารถยื่นคำขอระหว่างประเทศเพียงครั้งเดียวเพื่อขอรับความคุ้มครองการประดิษฐ์ในประเทศต่างๆ ที่เป็นภาคีแห่งสนธิสัญญาได้ อันเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ยื่นคำขอรับการคุ้มครองการประดิษฐ์
เมื่อผู้ขอได้ยื่นคำขอระหว่างประเทศในประเทศภาคีแห่งสนธิสัญญาไว้แล้ว หากประสงค์จะขอรับความคุ้มครองในประเทศไทย ให้ยื่นคำขอรับความคุ้มครองการประดิษฐ์ในประเทศไทย ภายในระยะเวลา 30 เดือนนับแต่วันยื่นคำขอครั้งแรก หากผู้ขอมิได้ดำเนินการภายในระยะเวลากำหนด ให้ถือว่าคำขอระหว่างประเทศนั้นสิ้นผลในประเทศไทย
ในกรณีผู้ขอไม่อาจดำเนินการยื่นคำขอระหว่างประเทศภายในระยะเวลา 30 เดือน ผู้ขออาจยื่นคำร้องเพื่อขอฟื้นสิทธิให้คำขอระหว่างประเทศยังคงมีผลในประเทศไทยต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาภายในระยะเวลา 2 เดือนนับแต่วันที่เหตุที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดได้สิ้นสุดลง หรือภายในระยะเวลา 12 เดือนนับแต่วันครบกำหนดระยะเวลา 30 เดือนนับแต่วันยื่นคำขอครั้งแรกแล้วแต่ระยะเวลาใดจะสิ้นสุดลงก่อน
เงื่อนไขในการยื่นคำขอ
1. ในกรณีที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรยื่นคำขอรับความคุ้มครองการประดิษฐ์ในประเทศไทยเกินกำหนด 30 เดือน นับแต่วันยื่นคำขอครั้งแรก ให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรยื่นคำร้องเพื่อการฟื้นสิทธิให้คำขอระหว่างประเทศยังมีผลในประเทศไทยตาม [แบบสป/อสป/101-ก (PCT)] พร้อมทั้งเหตุผลและหลักฐาน ในคราวเดียวกันต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะพิจารณาคำร้องและแจ้งให้ผู้ขอทราบผลการพิจารณาในลำดับต่อไป
2. การมอบอำนาจ
2.1กรณีที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรไม่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ให้มอบอำนาจให้ตัวแทนซึ่งได้ขึ้นทะเบียนไว้กับอธิบดีเป็นผู้กระทำการแทนในราชอาณาจักรโดยยื่นหนังสือมอบอำนาจต่ออธิบดีตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1)ในกรณีที่การมอบอำนาจนั้นได้กระทำในต่างประเทศหนังสือมอบอำนาจนั้นต้องมีคำรับรองลายมือชื่อโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของสถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทย หรือหัวหน้าสำนักงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ซึ่งประจำอยู่ ณ ประเทศที่ผู้มอบอำนาจมีถิ่นที่อยู่ หรือเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการแทนบุคคลดังกล่าว หรือคำรับรองของบุคคลซึ่งกฎหมายของประเทศนั้นให้มีอำนาจรับรองลายมือชื่อ หรือ
(2) ในกรณีที่หนังสือมอบอำนาจนั้นได้กระทำในประเทศไทยต้องส่งภาพถ่ายหนังสือเดินทาง หรือภาพถ่ายหนังสือรับรองถิ่นที่อยู่ชั่วคราว หรือหลักฐานอื่นที่แสดงให้อธิบดีเห็นว่าในขณะมอบอำนาจผู้นั้นได้เข้ามาในประเทศไทยจริงด้วย
2.2 ในกรณีที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรประสงค์จะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทน จะมอบอำนาจให้แก่ตัวแทนซึ่งได้ขึ้นทะเบียนไว้กับอธิบดีเป็นผู้กระทำการแทนได้เท่านั้น
2.3 หนังสือมอบอำนาจดังกล่าว จะต้องปิดอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ดังนี้
(1) กรณีมอบอำนาจให้บุคคลเดียว หรือหลายคนกระทำการครั้งเดียว ให้ปิดอากร 10 บาท
(2) กรณีมอบอำนาจให้บุคคลเดียว หรือหลายคนร่วมกระทำการมากกว่าครั้งเดียว ให้ปิดอากร 30 บาท
(3) กรณีมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยให้บุคคลหลายคน ให้ปิดอากรคิดตามรายบุคคลที่รับมอบคนละ 30 บาท
การดำเนินการตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่
ในกรณียื่นคำขอทางอินเทอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบ จะดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล และรายละเอียดในคำขอรับสิทธิบัตร หรืออนุสิทธิบัตร คำร้อง หรือคำขออื่นๆ จากข้อมูลและรายละเอียดที่ปรากฏในระบบ e-Filing เป็นสำคัญ ซึ่งการตรวจสอบคำขอที่ยื่นผ่านทางอินเทอร์เน็ต จะดำเนินการตามประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขสำหรับการยื่นคำขอรับสิทธิบัตร หรืออนุสิทธิบัตร คำร้อง หรือคำขออื่นๆ ผ่านทางระบบจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) ฉบับลงวันที่
5 มีนาคม พ.ศ.2561
หมายเหตุ
1. ขั้นตอนการดำเนินงานตามคู่มือประชาชนจะเริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารว่ามีความถูกต้องครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในคู่มือบริการประชาชนเรียบร้อยแล้ว
ลำดับ | ขั้นตอน | ระยะเวลา | หน่วยงานผู้รับผิดชอบ |
---|---|---|---|
1 | การตรวจสอบเอกสาร - ยื่นคำร้องเพื่อขอฟื้นสิทธิและคำขอรับความคุ้มครองการประดิษฐ์ในประเทศไทย [แบบสป/อสป/001-ก (PCT)] - ตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสาร - ชำระค่าธรรมเนียมคำขอ | 1 วัน | กระทรวงพาณิชย์ กรมทรัพย์สินทางปัญญากองสิทธิบัตร |
2 | การพิจารณา - พิจารณาเหตุแห่งการขอฟื้นสิทธิ - พิจารณาความน่าเชื่อถือของหลักฐาน | 85 วัน | กระทรวงพาณิชย์ กรมทรัพย์สินทางปัญญากองสิทธิบัตร |
1 | การตรวจสอบเอกสาร เสนออธิบดีพิจารณาอนุมัติฟื้นสิทธิ/ไม่อนุมัติให้ฟื้นสิทธิ โดยให้ถือมติพิจารณานี้เป็นที่สิ้นสุด | 4 วัน | กระทรวงพาณิชย์ กรมทรัพย์สินทางปัญญากองสิทธิบัตร |
1368สายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา
รองรับการทำงานบน Microsoft Edge , Firefox , Safari , Chrome , Opera และรองรับการแสดงผลบน Mobile Devices
สงวนลิขสิทธิ์ © 2564 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์