เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้ว เจ้าของเครื่องหมายอาจอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายนั้นของตน สำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ทั้งหมดหรือบางอย่างก็ได้ โดยต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ทั้งนี้ สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายควรระบุข้อความเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพสินค้าหรือบริการ หรือข้อความว่าเจ้าของเครื่องหมายยังมีสิทธิใช้หรืออนุญาตเครื่องหมายนี้ได้อีกหรือไม่ หรือข้อความว่าผู้ได้รับอนุญาต ผู้ได้รับอนุญาตช่วงมีสิทธิโอนการอนุญาตช่วงให้บุคคลอื่นต่อได้หรือไม่
เงื่อนไขเพิ่มเติม
1. บันทึกข้อตกลง
กรณีคำขอมีข้อบกพร่องหรือเอกสารประกอบคำขอไม่ครบถ้วน เจ้าหน้าที่รับคำขอจะแจ้งให้ผู้ขอจดทะเบียนแก้ไขให้ถูกต้องหรือยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมในทันที หากผู้ขอไม่สามารถดำเนินการแก้ไขหรือยื่นเอกสารหลักฐานได้ในทันที เจ้าหน้าที่จะทำบันทึกข้อบกพร่องหรือรายการเอกสารหลักฐานที่ต้องยื่นเพิ่มเติม พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาให้ผู้ขอดำเนินการแก้ไขหรือยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ยื่นคำขอ และให้มีการลงนามเจ้าหน้าที่รับคำขอและผู้ขอจดทะเบียนในบันทึกนั้น โดยเจ้าหน้าที่จะมอบสำเนาบันทึกดังกล่าวให้แก่ผู้ขอเพื่อเป็นหลักฐาน หากผู้ยื่นคำขอไม่ดำเนินการส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ครบถ้วนภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวให้ถือว่าผู้ยื่นคำขอละทิ้งคำขอ โดยเจ้าหน้าที่จะดำเนินการคืนคำขอให้แก่ผู้ยื่นคำขอพร้อมทั้งแจ้งเหตุแห่งการคืนคำขอและสิทธิในการอุทธรณ์ให้ทราบด้วย
2. การขอคืนค่าธรรมเนียม
กรณีผู้ยื่นคำขอได้ชำระเงินค่าธรรมเนียมใดๆ ให้แก่กรมทรัพย์สินทางปัญญาไปแล้ว จะขอคืนค่าธรรมเนียมดังกล่าวไม่ได้ไม่ว่าในกรณีใดๆ เว้นแต่ (1) มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้คืนค่าธรรมเนียม หรือ (2) ชำระค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อนหรือชำระเกิน ซึ่งการชำระดังกล่าว เกิดเนื่องจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมิใช่ความผิดของผู้ชำระซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะได้พิจารณาเป็นกรณีๆ ไป
3. e - Filing
กรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนยื่นคำขอจดทะเบียนผ่านทางอินเตอร์เน็ต ผู้ขอจะต้องปฏิบัติตามประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขสำหรับการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำขออื่นๆ ผ่านทางระบบการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filling)
4. การตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจ กรณีปกติ
ให้แนบภาพถ่ายหนังสือตั้งตัวแทนหรือหนังสือมอบอำนาจและบัตรประจำตัวของตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจมาพร้อมกันด้วย แบ่งได้ 2 กรณีย่อย ดังนี้
4.1) กรณีหนังสือตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจได้กระทำในต่างประเทศ
- สำหรับการรับรองลายมือชื่อเพียงอย่างเดียว ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของสถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทย ซึ่งประจำอยู่ ณ ประเทศที่มีการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจเป็นผู้รับรอง
- สำหรับการรับรองลายมือชื่อหรือรับรองการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจ ให้หัวหน้าสำนักงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ซึ่งประจำอยู่ ณ ประเทศที่มีการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจ โนตารีปับลิกหรือบุคคลซึ่งกฎหมายแห่งท้องถิ่นระบุให้เป็นผู้มีอำนาจเป็นพยานในเอกสารเป็นผู้รับรอง
4.2) กรณีหนังสือตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจได้กระทำในประเทศไทย โดยผู้ตั้งตัวแทนหรือผู้มอบอำนาจมิได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ต้องส่งภาพถ่ายหนังสือเดินทาง หรือภาพถ่ายหนังสือรับรองถิ่นที่อยู่ชั่วคราว หรือหลักฐานอื่นที่แสดงให้นายทะเบียนเห็นว่าในขณะตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจ ผู้นั้นได้เข้ามาในประเทศไทยจริง
5. การตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจ กรณีเฉพาะให้ยื่นคำขอเท่านั้น
กรณีที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือตัวแทนผู้รับมอบอำนาจไม่ได้เป็นผู้ยื่นคำขอด้วยตนเอง โดยมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้ยื่นคำขอแทน ควรมีหนังสือมอบอำนาจช่วงหรือหนังสือมอบอำนาจเฉพาะการให้บุคคลนั้น มีอำนาจยื่นคำขอและลงนามในบันทึกความบกพร่องแทนเจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือตัวแทนได้พร้อมแนบบัตรประจำตัวที่ทางราชการออกให้ของผู้รับมอบอำนาจและติดอากรแสตมป์เพราะหากคำขอไม่ถูกต้องหรือเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วน และบุคคลผู้ยื่นคำขอไม่มีอำนาจลงนามในบันทึกดังกล่าว เจ้าหน้าที่ไม่อาจรับคำขอของท่านไว้ได้
6. การนำส่งเอกสาร
6.1) กรณีที่ผู้ยื่นคำขอต้องนำเอกสารหรือหลักฐานหลายรายการมายื่นเพิ่มเติมให้ครบถ้วนตามบันทึกความบกพร่องให้ผู้ยื่นคำขอนำเอกสารหรือหลักฐานทั้งหมดมายื่นในคราวเดียวกัน
6.2) กรณีที่จะต้องส่งสำเนาเอกสารหลักฐาน ให้ผู้ยื่นคำขอรับรองความถูกต้องของสำเนาเอกสารหลักฐานนั้นด้วย
6.3) กรณีที่จะต้องส่งเอกสารเป็นภาษาต่างประเทศ ให้ผู้ยื่นคำขอส่งเอกสารนั้นพร้อมด้วยคำแปลเป็นภาษาไทยโดยมีคำรับรองของผู้แปลว่าเป็นคำแปลที่ถูกต้อง
6.4) กรณีที่ผู้ขอจะต้องส่งต้นฉบับเอกสาร หากเป็นยื่นคำขอในเรื่องเดียวกันพร้อมกันหลายคำขอ ให้ผู้ขอส่งต้นฉบับเอกสารเพียงคำขอเดียว และในคำขออื่นๆอนุญาตให้ส่งเป็นสำเนาเอกสารได้ แต่ผู้ขอจะต้องระบุในสำเนาเอกสารว่า ต้นฉบับอยู่ในคำขอใด
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- กฎกระทรวง (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
- พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534