TRADE MARK

เครื่องหมายการค้า

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

31715
29.09.59

ในการยื่นคำขอ และในการพิจารณาอนุญาต หากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เจ้าของต้องยื่นคำขอแก้ไขต่อนายทะเบียน โดยแก้ไขได้เฉพาะในเรื่องดังต่อไปนี้

  1. ยกเลิกรายการสินค้าบางอย่างที่ได้จดทะเบียนแล้ว
  2. ชื่อ สัญชาติ ที่อยู่ และอาชีพของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นและของตัวแทน
  3. สำนักงานหรือสถานที่ที่นายทะเบียนสามารถติดต่อได้ในประเทศไทย
  4. ยกเลิกตัวแทน ตั้งหรือเปลี่ยนตัวแทน
  5. สัญชาติ ที่อยู่ และอาชีพของผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า

 

ยื่นคำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า 

1. บันทึกข้อตกลง

กรณีคำขอมีข้อบกพร่องหรือเอกสารประกอบคำขอไม่ครบถ้วน เจ้าหน้าที่รับคำขอจะแจ้งให้ผู้ขอจดทะเบียนแก้ไขให้ถูกต้องหรือยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมในทันที หากผู้ขอไม่สามารถดำเนินการแก้ไขหรือยื่นเอกสารหลักฐานได้ในทันที เจ้าหน้าที่จะทำบันทึกข้อบกพร่องหรือรายการเอกสารหลักฐานที่ต้องยื่นเพิ่มเติม  พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาให้ผู้ขอดำเนินการแก้ไขหรือยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ยื่นคำขอและให้มีการลงนามเจ้าหน้าที่รับคำขอและผู้ขอจดทะเบียนในบันทึกนั้น โดยเจ้าหน้าที่จะมอบสำเนาบันทึกดังกล่าวให้แก่ผู้ขอเพื่อเป็นหลักฐาน

หากผู้ยื่นคำขอไม่ดำเนินการส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ครบถ้วนภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวให้ถือว่าผู้ยื่นคำขอละทิ้งคำขอ โดยเจ้าหน้าที่จะดำเนินการคืนคำขอให้แก่ผู้ยื่นคำขอพร้อมทั้งแจ้งเหตุแห่งการคืนคำขอและสิทธิในการอุทธรณ์ให้ทราบด้วย

 

2. การขอคืนค่าธรรมเนียม

กรณีผู้ยื่นคำขอได้ชำระเงินค่าธรรมเนียมใดๆ ให้แก่กรมทรัพย์สินทางปัญญาไปแล้ว จะขอคืนค่าธรรมเนียมดังกล่าวไม่ได้ไม่ว่าในกรณีใดๆ เว้นแต่

(1) มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้คืนค่าธรรมเนียม หรือ

(2) ชำระค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อนหรือชำระเกิน ซึ่งการชำระดังกล่าว เกิดเนื่องจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐโดยมิใช่ความผิดของผู้ชำระซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะได้พิจารณาเป็นกรณีๆ ไป

 

3. e - Filing

กรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนยื่นคำขอจดทะเบียนผ่านทางอินเตอร์เน็ต ผู้ขอจะต้องปฏิบัติตามประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขสำหรับการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำขออื่นๆ ผ่านทางระบบการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filling)

 

4. การตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจ กรณีปกติ

ให้แนบภาพถ่ายหนังสือตั้งตัวแทนหรือหนังสือมอบอำนาจและบัตรประจำตัวของตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจมาพร้อมกันด้วย แบ่งได้ 2 กรณีย่อย ดังนี้

4.1) กรณีหนังสือตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจได้กระทำในต่างประเทศ

      - สำหรับการรับรองลายมือชื่อเพียงอย่างเดียว ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของสถานทูต

ไทยหรือสถานกงสุลไทย ซึ่งประจำอยู่ ณ ประเทศที่มีการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจเป็นผู้รับรอง

       - สำหรับการรับรองลายมือชื่อหรือรับรองการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจ ให้หัวหน้าสำนักงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ซึ่งประจำอยู่ ณ ประเทศที่มีการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจ โนตารีปับลิกหรือบุคคลซึ่งกฎหมายแห่งท้องถิ่นระบุให้เป็นผู้มีอำนาจเป็นพยานในเอกสารเป็นผู้รับรอง

 4.2) กรณีหนังสือตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจได้กระทำในประเทศไทย โดยผู้ตั้งตัวแทนหรือ     ผู้มอบอำนาจมิได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ต้องส่งภาพถ่ายหนังสือเดินทาง หรือภาพถ่ายหนังสือรับรองถิ่นที่อยู่ชั่วคราว หรือหลักฐานอื่นที่แสดงให้นายทะเบียนเห็นว่าในขณะตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจ ผู้นั้นได้เข้ามาในประเทศไทยจริง

 

5. การตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจ กรณีเฉพาะให้ยื่นคำขอเท่านั้น

กรณีที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือตัวแทนผู้รับมอบอำนาจไม่ได้เป็นผู้ยื่นคำขอด้วยตนเอง

โดยมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้ยื่นคำขอแทน ควรมีหนังสือมอบอำนาจช่วงหรือหนังสือมอบอำนาจเฉพาะการให้บุคคลนั้นมีอำนาจยื่นคำขอและลงนามในบันทึกความบกพร่องแทนเจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือตัวแทนได้พร้อมแนบบัตรประจำตัวที่ทางราชการออกให้ของผู้รับมอบอำนาจและติดอากรแสตมป์เพราะหากคำขอไม่ถูกต้องหรือเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วนและบุคคลผู้ยื่นคำขอไม่มีอำนาจลงนามในบันทึกดังกล่าว เจ้าหน้าที่ไม่อาจรับคำขอของท่านไว้ได้

 

6. การนำส่งเอกสาร

6.1) กรณีที่ผู้ยื่นคำขอต้องนำเอกสารหรือหลักฐานหลายรายการมายื่นเพิ่มเติมให้ครบถ้วนตามบันทึกความบกพร่องให้ผู้ยื่นคำขอนำเอกสารหรือหลักฐานทั้งหมดมายื่นในคราวเดียวกัน

6.2) กรณีที่จะต้องส่งสำเนาเอกสารหลักฐาน ให้ผู้ยื่นคำขอรับรองความถูกต้องของสำเนาเอกสารหลักฐานนั้นด้วย

6.3) กรณีที่จะต้องส่งเอกสารเป็นภาษาต่างประเทศ ให้ผู้ยื่นคำขอส่งเอกสารนั้นพร้อมด้วยคำแปลเป็นภาษาไทยโดยมีคำรับรองของผู้แปลว่าเป็นคำแปลที่ถูกต้อง

6.4) กรณีที่ผู้ขอจะต้องส่งต้นฉบับเอกสาร หากเป็นยื่นคำขอในเรื่องเดียวกันพร้อมกันหลายคำขอ ให้ผู้ขอส่งต้นฉบับเอกสารเพียงคำขอเดียว และในคำขออื่นๆอนุญาตให้ส่งเป็นสำเนาเอกสารได้ แต่ผู้ขอจะต้องระบุในสำเนาเอกสารว่าต้นฉบับอยู่ในคำขอใด

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. กฎกระทรวง (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
  2. พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534

1368สายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา 

รองรับการทำงานบน Microsoft Edge , Firefox , Safari , Chrome , Opera และรองรับการแสดงผลบน Mobile Devices

DIP Logoกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
เลขที่ 563 ถนนนนทบุรี  ต.บางกระสอ อ.เมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000 อีเมล์ : saraban@ipthailand.go.th สายด่วน 1368 

 facebook  instagram  youtube  twitter

สถิติผู้เข้าชมวันนี้ : 12

สถิติผู้เข้าชมรวม : 10899516

ipv6 ready W3C WIA AAA WCAG20Html5 LogoAcheckerW3c Css
 
 
 
 

กรมทรัพย์สินทางปัญญา