COPYRIGHT

ลิขสิทธิ์

กฎหมายจัดระเบียบการเก็บค่าลิขสิทธิ์ : ใครได้ ใครเสีย

11329
11.08.59

-          ตลอดหลายวันที่ผ่านมา มีการพูดกันมากเรื่องร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ โดยมีค่ายเพลง ครูเพลง  ศิลปิน กลุ่มหนึ่งออกมาคัดค้าน ขณะที่ครูเพลง และผู้ใช้งานคาราโอเกะอีกกลุ่มหนึ่งก็ออกมาสนับสนุน ทำให้เกิดความสับสน แต่ที่เป็นปัญหา คือ ได้มีผู้บริหารของบริษัทจัดเก็บบางรายที่เป็นนักกฎหมายและเป็นกรรมาธิการนั่งพิจารณาร่างกฎหมายนี้อยู่ด้วย ออกมาให้สัมภาษณ์โดยจงใจบิดเบือนให้เกิดความเข้าใจผิดในหลักการและสาระสำคัญของกฎหมายนี้  ในทำนองว่าหน่วยงานของรัฐจะเป็นผู้จัดตั้ง “องค์กรกลาง” เองและมีเพียงองค์กรเดียว เพื่อรวบอำนาจและผูกขาดการจัดเก็บลิขสิทธิ์ทั่วประเทศ  โดยภาครัฐจะเข้าไป “ควบคุมราคา” อัตราการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ รวมทั้งจะลดอัตราโทษการทำละเมิดลิขสิทธิ์ ให้เหลือโทษปรับอย่างเดียว  ซึ่งจะทำให้การปราบปรามซีดีเถื่อนไม่ได้ผล 
          ในฐานะประธานคณะทำงานยกร่างกฎหมายของกรมทรัพย์สินทางปัญญา และโฆษกคณะกรรมา   ธิการวิสามัญของ สนช. ที่พิจารณาร่างกฎหมายนี้  ใคร่ขอชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน  ดังนี้

          1. เหตุผลที่ต้องเสนอร่างกฎหมาย เพราะมีการร้องเรียนมากกว่า 100 ราย ทั้งที่ผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี  ผู้ตรวจการแผ่นดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยผู้ใช้งานเพลง เช่น ร้านคาราโอเกะ ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรมฯ กล่าวหาว่า การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ไม่มีความเป็นธรรม เอาเปรียบ มีการจัดเก็บซ้ำซ้อน  จับกุมและข่มขู่เรียกค่ายอมความ และยังมีบุคคลที่เรียกกันว่า “นักบิน” กว้านซื้อใบมอบอำนาจจากเจ้าของสิทธิแล้วไปข่มขู่เรียกเงินเพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดี ครั้งละ 20,000 บาท – 50,000 บาท รวมทั้ง ครูเพลงจำนวนมากที่เป็นสมาชิกของบริษัท จัดเก็บบางรายร้องเรียนว่า บริษัทจัดเก็บเอาเปรียบ ไม่จัดสรรค่าลิขสิทธิ์ให้ หรือให้น้อย ไม่มีกำหนดเวลา แน่นอน นอกจากนั้น บริษัทจัดเก็บเองที่มีอยู่มากกว่า 10 รายขณะนี้ ก็ร้องเรียนว่ามี “มาเฟียคาราโอเกะ” ใช้อิทธิพลให้ความคุ้มครองเจ้าของตู้คาราโอเกะที่ผิดกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ได้

          ประกอบกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เสนอแนะต่อรัฐบาลให้พิจารณาปรับปรุงกฎหมาย  โดยให้สร้างระบบและจัดระเบียบการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ให้มีความเป็นธรรม  และปรับปรุงอัตราโทษให้เหมาะสมกับพฤติการณ์ของการกระทำผิดด้วย ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นและข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน นักวิชาการ สมาคมที่เกี่ยวข้องกับวงการเพลง ที่เข้าร่วมสัมมนารับฟังความคิดเห็นในเรื่องนี้ ดังนั้น จึงได้มีการพิจารณาและเสนอกฎหมายนี้

          2. ร่างกฎหมายนี้จัดให้มีการรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะของทุกฝ่ายหลายครั้ง และมีตัวแทนบริษัทจัดเก็บ  ค่ายเพลง ครูเพลง ผู้ใช้งาน เข้าร่วมประชุมด้วยทุกครั้ง ร่างนี้ได้เสนอตั้งแต่ปี 2548 ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ซึ่งได้มีการประชุมพิจารณาอย่างรอบคอบมากกว่า 30 ครั้ง นอกจากนั้นนายกงกฤช  หิรัญกิจ สมาชิก สนช. กับคณะ ได้เสนอร่างกฎหมายที่มีหลักการและสาระสำคัญสอดคล้องกันอีกฉบับหนึ่ง รวมทั้ง  นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์ สมาชิก สนช. กับคณะ ก็ได้เสนอร่างกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง เพื่อให้คนพิการได้มีโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากงานลิขสิทธิ์ได้โดยไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าไม่ได้กระทำเพื่อการค้า เช่น การดัดแปลงหนังสือธรรมดาให้เป็นหนังสืออักษรเบลล์หรือหนังสือเสียง เป็นต้น

          สนช. ได้พิจารณารับหลักการร่างกฎหมายทั้งสามฉบับดังกล่าวในวาระแรก เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2550 โดยให้รวมพิจารณาเป็นร่างเดียวกัน และส่งให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา โดยมีตัวแทนของค่ายเพลงใหญ่ 2 คน เป็นกรรมาธิการด้วย และคณะกรรมาธิการได้มีการพิจารณารวม 7 ครั้ง แล้วเสร็จเมื่อ 18 ธันวาคม 2550 โดยไม่มีสมาชิก สนช. ท่านใดเสนอคำแปรญัตติเลย

          3. โครงสร้างของร่างกฎหมายนี้เป็นกฎหมายลักษณะเชิงป้องกันและจัดระเบียบ โดยมีเจตนารมณ์ที่จะจัดระบบการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ให้มีระเบียบ โปร่งใส  เป็นธรรม ต้องการคุ้มครองครูเพลงและเจ้าของสิทธิให้ได้รับค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม ต้องการให้ผู้ใช้งานเพลงที่จ่ายค่าลิขสิทธิ์แล้วมีหลักประกันในการใช้เพลงโดยไม่มีผู้ใดไปเรียกเก็บซ้ำซ้อนหรือข่มขู่ดำเนินคดีได้อีก และต้องการให้บริษัทจัดเก็บสามารถทำหน้าที่ตัวแทนของเจ้าของสิทธิได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐาน และมีภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ ซึ่งจะทำให้วงการเพลงและสังคมไทยมีวินัย และมีการเคารพสิทธิของผู้อื่น

          4. ตัวแทนจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ตามร่างกฎหมายนี้ ไม่ได้เรียกว่า “องค์กรกลาง” แต่เรียกว่า “บริษัทจัดเก็บ” และไม่มีมาตราใดให้ภาครัฐไปตั้งบริษัทจัดเก็บได้ แต่เปิดกว้างให้เจ้าของสิทธิ์ ครูเพลง ศิลปิน หรือประชาชนทั่วไป สามารถรวมตัวกันขอจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด แล้วรวบรวมเจ้าของสิทธิ์ให้เข้ามาเป็นสมาชิก ถ้ามีจำนวนเพลงที่จะจัดเก็บครบตามที่กำหนด ก็ไปยื่นขอรับใบอนุญาตต่อคณะกรรมการกำกับดูแล เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วก็จะเป็น “บริษัทจัดเก็บ” และสามารถไปทำหน้าที่จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์แทนสมาชิกได้ ดังนั้น บริษัทจัดเก็บจึงยังคงเป็นของเจ้าของสิทธิ์ ครูเพลง  และประชาชนทั่วไป เหมือนกับที่มีอยู่แต่เดิมทุกวันนี้ โดยจะมีกี่บริษัทก็ได้ถ้ามีคุณสมบัติครบถ้วน จึงไม่มีการผูกขาดหรือรวบอำนาจในการจัดเก็บแต่อย่างใด

          5. บริษัทจัดเก็บสามารถกำหนดอัตราจัดเก็บเองได้โดยอิสระ เพียงแต่กฎหมายบังคับให้บริษัทจัดเก็บต้องมี ข้อกำหนด ซึ่งเป็นกติกาในการบริหารการจัดเก็บ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ ข้อกำหนดที่ว่านี้อย่างน้อยต้องมี 3 เรื่องสำคัญ คือ (1) อัตราการจัดเก็บ (2) อัตราการหักเงินเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัท และ (3) อัตราการจัดสรรเงินคืนให้แก่เจ้าของสิทธิ์ และข้อกำหนดนี้จะต้องประกาศให้สาธารณชนทราบ เพื่อให้รู้ว่าแต่ละบริษัทตั้งราคาการจัดเก็บไว้เท่าไร บริษัทจะหักเงินไว้เท่าไร และจะเหลือไปจ่ายคืนให้ครูเพลงเท่าไร ซึ่งก็เหมือนกับการปักป้ายราคาสินค้าให้ผู้ซื้อ รู้ล่วงหน้าก่อน จะได้เลือกซื้อสินค้าได้ตามใจชอบ แค่นั้นเอง ดังนั้น จึงไม่มีการควบคุมราคาโดยรัฐ แต่กลไกการตลาดจะเป็นตัวควบคุมเอง ถ้าบริษัทใดจัดเก็บแพง หักเงินไว้มาก แต่นำไปจ่ายคืนให้แก่เจ้าของสิทธิ์หรือครูเพลงน้อย ก็จะไม่มีใครติดต่อด้วย ซึ่งเป็นหลักการธรรมดาในระบบการค้าอย่างเสรี

          6. อัตราโทษเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องปรับปรุงแก้ไข เพราะตามกฎหมายปัจจุบันนั้น ถ้าเด็กนักเรียนไรท์ซีดีไม่กี่แผ่นขายให้เพื่อน หรือร้านลาบส้มตำเอาซีดีมาเปิดให้ลูกค้าฟัง จะมีอัตราโทษเท่ากับโรงงานปั้มซีดีเถื่อนฯ ซึ่งมีความไม่เป็นธรรมและเป็นปัญหาอย่างมาก เพราะถ้าไปจับเด็กนักเรียนที่ไรท์ซีดีส่งศาล แม้ศาลจะเห็นว่าเป็นความผิดเพียงเล็กน้อย แต่เนื่องจากเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดเพื่อการค้าที่มีอัตราโทษขั้นต่ำให้ปรับอย่างน้อย 100,000 บาท ศาลจะลงโทษน้อยกว่าโทษขั้นต่ำไม่ได้ ศาลก็ต้องเลือกใช้วิธีรอการกำหนดโทษแทน พอเป็นอย่างนี้ก็มีเจ้าของสิทธิ์ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันว่ากฎหมายนี้ไม่สามารถบังคับได้

          ดังนั้น กฎหมายใหม่นี้จึงปรับแก้ให้มีโทษเป็น 3 ระดับ คือ ถ้าเป็นความผิดทั่วไปที่ไม่ใช่การค้า ก็แก้ไขโทษจากเดิมที่ปรับตั้งแต่ 20,000 บาท - 200,000 บาท เป็นปรับไม่เกิน 400,000 บาท คือเพิ่มโทษขั้นสูงขึ้นไปอีกเท่าตัว แต่ยกเลิกโทษขั้นต่ำ เพื่อให้ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจลงโทษได้ตามความหนักเบาของการกระทำผิด

          ส่วนการกระทำผิดเพื่อการค้า ซึ่งแต่เดิมมีอัตราโทษระดับเดียว ก็แก้ไขให้เป็น 2 ระดับ คือถ้าเป็นการค้าธรรมดาทั่วไป เช่น ไรท์ซีดีขายกันไม่กี่แผ่น ขายปลีกเป็นแผงเล็ก ๆ จากเดิมที่เคยมีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ ก็แก้ไขให้เป็นโทษปรับอย่างเดียวไม่เกิน 800,000 บาท

          แต่ถ้าเป็นการกระทำผิดเพื่อการค้าขนาดใหญ่ ที่ส่งผลเสียหายร้ายแรงและเป็นต้นตอของการละเมิดอย่างรุนแรง  เช่น โรงงานปั้มซีดีเถื่อน แหล่งผลิตที่ใช้เครื่องไรท์แผ่นปลอมได้คราวละมาก ๆ  โกดังเก็บสินค้า แหล่งกระจายสินค้า ร้านค้าส่งฯ หรือการลักลอบนำเข้าแผ่นปลอมตามชายแดน ที่จำเป็นต้องปราบปรามอย่างจริงจัง ก็ได้แก้ไขอัตราโทษให้หนักขึ้น ทั้งโทษขั้นต่ำและขั้นสูง คือจำคุกตั้งแต่ 1 ปี – 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 400,000 บาท – 1,600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          ความผิดดังกล่าวนั้น กฎหมายเดิมให้ถือว่าเป็นความผิดยอมความได้ แต่กฎหมายใหม่จะให้ยอมความได้เฉพาะความผิดทั่วไป  และการค้าขนาดเล็กเท่านั้น ส่วนความผิดเพื่อการค้าขนาดใหญ่ต้องมีการดำเนินคดีจนถึงที่สุด ไม่สามารถยอมความได้ ซึ่งการปรับแก้อัตราโทษเช่นนี้ จะทำให้การปราบปรามต้นตอการละเมิดขนาดใหญ่ได้ผลมากขึ้น ขณะที่ศาลก็จะสามารถใช้ดุลยพินิจลงโทษได้ตามความหนักเบาของการกระทำผิด ซึ่งจะเกิดความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

          7. ร่างกฎหมายใหม่กำหนดให้บริษัทจัดเก็บต้องมี “บัญชีงาน” ซึ่งก็คือบัญชีรายละเอียดเกี่ยวกับเพลงและผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ที่แท้จริง บัญชีนี้จะถูกบังคับให้ประกาศต่อสาธารณชน เพื่อให้มีการคัดค้านได้ภายใน 30 วัน เพลงใดที่ถูกคัดค้านก็จะต้องไปทำความตกลงกันหรือฟ้องศาลให้ได้ข้อยุติก่อนว่าใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง เพลงใดที่ไม่มีการคัดค้านจึงจะนำมาจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ได้ ดังนั้นจึงช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดเก็บซ้ำซ้อนได้ทางหนึ่ง

          8. บริษัทจัดเก็บไม่ได้ใช้เฉพาะกับงานเพลง (ดนตรีกรรม) เท่านั้น แต่ใช้กับงานลิขสิทธิ์อื่น ๆ ทุกประเภทด้วย เช่น งานวรรณกรรม ศิลปกรรม เป็นต้น และก็ไม่ได้บังคับให้ต้องมีบริษัทจัดเก็บขึ้นในทันที่เลย แต่ได้วางเป็นเงื่อนไขให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้พิจารณากำหนด โดยการออกเป็นกฎกระทรวง คือถ้าไม่มีเหตุจำเป็นใด ๆ ก็ไม่ต้องบังคับใช้ ดังนั้น งานลิขสิทธิ์ทุกประเภทซึ่งรวมถึงงานดนตรีกรรมที่มีปัญหาอยู่ทุกวันนี้ ถ้าสามารถบริหารการจัดเก็บค่าตอบแทนได้ด้วยความเรียบร้อยไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ ไม่มีการจัดเก็บซ้ำซ้อน แก้ไขปัญหาเรื่องนักบิน ฯลฯ ได้ กฎกระทรวงก็จะไม่ออกมาใช้บังคับ เจ้าของสิทธิ์ ครูเพลง และบริษัทจัดเก็บเดิมทั้งหลาย ก็สามารถเก็บค่าตอบแทนต่อไปได้ เหมือนเดิม

          ฉะนั้น การสร้างบริษัทจัดเก็บตามร่างกฎหมายนี้ จึงเปรียบเหมือนกับการสร้างประตูฉุกเฉินไว้ในเครื่องบินหรือรถโดยสาร คือเพียงแต่สร้างไว้สำหรับใช้ในยามฉุกเฉินจำเป็นเท่านั้น ถ้าไม่มีเหตุก็ไม่ต้องใช้ แต่เมื่อมีความจำเป็นก็สามารถเปิดออกมาใช้ได้ เท่านั้นเอง ดังนั้น ผู้คนที่อยู่ในวงการเพลง ไม่ว่าจะเป็น ครูเพลง นักร้อง ค่ายเพลง และเจ้าของสิทธิ์ทั้งหลาย ก็ควรจะต้องจัดระเบียบเพื่อควบคุมกันเอง ให้มีการเคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้ใช้งาน และหาวิธีการป้องกันไม่ให้มีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นอีก โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมที่จะช่วยสนับสนุนอย่างเต็มที่ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด

          9. โดยสรุปแล้ว ร่างกฎหมายนี้ก่อให้เกิดผลดีและมีประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ดังนี้

                    9.1 บริษัทจัดเก็บ จะสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นระบบ มีความชัดเจน โปร่งใส และมีอิสระในการกำหนดอัตราจัดเก็บ อัตราการหักค่าใช้จ่าย อัตราการจัดสรรคืนแก่สมาชิก

                    9.2 เจ้าของสิทธิ์ เช่น ครูเพลง ศิลปิน ค่ายเพลง เป็นต้น จะได้รับความคุ้มครองเต็มที่ และมีหลักประกันว่า จะได้รับจัดสรรค่าตอบแทนจากบริษัทจัดเก็บที่แน่นอน อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและจูงใจให้มีการสร้างสรรค์งานเพลงใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น

                    9.3 ผู้ใช้งาน เช่น ร้านคาราโอเกะ โรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร ฯลฯ จะสามารถเลือกใช้เพลงจากบริษัทจัดเก็บได้อย่างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับความพอใจในเรื่องคุณภาพของเพลงและอัตราการจัดเก็บที่เป็นธรรม และเมื่อได้จ่ายค่าตอบแทนแล้วจะได้รับความคุ้มครองไม่ให้ใครไปเรียกเก็บซ้ำซ้อนหรือข่มขู่ดำเนินคดีอีก

 

นายบรรยงค์  ลิ้มประยูรวงศ์
รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา
โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฯ สนช.

กรมทรัพย์สินทางปัญญา
โทร. 0-2547-4658
Fax.  0-2547-4659
18 ธันวาคม 2550

1368สายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา 

รองรับการทำงานบน Internet Explorer v9+, Firefox v.20+, Safari v.5+, Chrome v.25+, Opera v.10+

DIP Logoกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
เลขที่ 563 ถนนนนทบุรี  ต.บางกระสอ อ.เมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000 อีเมล์ : saraban@ipthailand.go.th สายด่วน 1368 

chat-1

 


 facebook  instagram  youtube  twitter

จำนวนผู้ชม : 9988002

ipv6 ready W3C WIA AAA WCAG20

กรมทรัพย์สินทางปัญญา